ส่วนปัจจุบันไม่มีกรณี??…หรือมีกรณีเทียบเคียงเรื่อง “เด็กป๋า-เด็กเสี่ย-เด็กบิ๊ก” เซ็งแซ่ในสังคมไทย?? ถ้ามีกรณี…พฤติการณ์เซ็งแซ่เป็นเช่นไร?? เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ย่อมทราบ ๆ กันดี??… อย่างไรก็ตาม ดูกันในภาพรวมเกี่ยวกับ “เด็กป๋า-เด็กเสี่ย-เด็กบิ๊ก” วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มชวนดูเรื่องราวใน “มุมวิชาการ” อีกครั้ง…

เรื่องนี้นี่ก็ “เป็นอีกปรากฏการณ์สังคม”

“มีมานาน” ผ่านยุคผ่านสมัยจนถึงยุคนี้

ที่ปรากฏการณ์นี้ “มีพัฒนาการไปไกล”

ทั้งนี้ “เด็กป๋า-เด็กเสี่ย-เด็กบิ๊ก” ในภาพรวม ๆ ที่มิได้หมายถึงใคร ๆ ที่กำลังมีคดีความใด ๆ… สำหรับ “มุมวิชาการ” นั้นก็ได้มีการศึกษาวิเคราะห์ไว้ อย่างเช่นในรูปแบบวิทยานิพนธ์ ซึ่งใน วารสารการศึกษาและพัฒนาสังคม ปีที่ 5 ฉบับที่ 1-2 ปีการศึกษา 2552 ของ มหาวิทยาลัยบูรพา ก็ได้เคยตีพิมพ์วิทยานิพนธ์ชื่อ “การจัดการปัญหาพฤติกรรมเด็กป๋า/เด็กเสี่ยของนักศึกษาหญิงแบบเชิงรุก” โดย เกวลี เตรียมแจ้งอรุณ ซึ่งได้มีการเกริ่นถึง “ปรากฏการณ์เด็กป๋า” ไว้ประมาณว่า…

“ภายใต้สภาวะสังคมพลวัตรที่ถูกหล่อหลอมด้วยระบบบริโภค วัตถุนิยม ทำให้มีเด็กและเยาวชนในภาคการศึกษาถูกชักจูงเข้าสู่การค้าบริการทางเพศมากขึ้น”…นี่เป็น “ภาพสะท้อน” ภาพหนึ่งจากวิทยานิพนธ์ที่ถูกสะท้อนไว้ผ่านวารสารฯ

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ฉบับนี้ ทางผู้จัดทำได้มีการระบุไว้ว่า… เพื่อที่จะศึกษาปัจจัย องค์ประกอบ สาเหตุของการเกิดพฤติกรรมการเป็น “เด็กป๋า” รวมทั้งหาข้อเสนอแนะสำหรับเป็นแนวทางจัดการปัญหา โดยการศึกษาใช้วิธีสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นักศึกษาหญิงที่มีพฤติกรรมเป็น “เด็กป๋า” โดยพบว่า… “องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเกิดพฤติกรรม” มักจะมีที่มาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่… ภูมิหลังครอบครัว ประสบการณ์ และก็รวมถึง…

ปัจจัย “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” 

นอกจากนั้น จากการศึกษาเรื่องนี้ก็ยังมีการฉายภาพไว้ถึง “ระบบตัวกลาง-ผู้จัดหา” ว่ามีการพัฒนารูปแบบ วิธีการ ที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อเลี่ยงกฎหมายและการปราบปราม โดยที่ มี “สิ่งเร้าจูงใจทางสังคม” ทำให้เกิดพฤติกรรม “เด็กป๋า” ซึ่งการศึกษาดังกล่าวได้ลงลึกถึงกรณีการค้าบริการทางเพศในลักษณะเพื่อนคู่นอน รวมถึงกึ่งสถานภาพเมียน้อย-เมียเก็บ

กรณีนักศึกษาหญิง…จากการศึกษาพบ “สาเหตุ” ที่ทำให้เข้าสู่สถานะนี้ ซึ่งมีตั้งแต่เรื่องการย้ายถิ่น การขาดความอบอุ่น การต้องการความรัก ความอยากรู้อยากเห็นอยากทดลอง การคบเพื่อน อิทธิพลกลุ่มเพื่อน รวมถึง ความต้องการอาชีพที่สามารถมีรายได้มากเป็นพิเศษ ขณะที่ “วิถี-ขบวนการ”ที่ชักนำให้ตกเข้าสู่สถานะแบบนี้ พบว่า… ส่วนใหญ่นั้นจะผ่านระบบการจัดหาของตัวกลาง ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนที่มีอาชีพแฝงเป็นนายหน้า รวมถึงมีส่วนที่ติดต่อตกลงเองโดยตรงด้วย

ภาพสะท้อนถัดมาจากการศึกษาคือ “ลักษณะของป๋า” ลักษณะผู้ที่ “นิยมมีสัมพันธ์แบบเลี้ยงดูเด็กป๋า” ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งพบว่า… ส่วนใหญ่มักจะเป็นคนในอาชีพ นักธุรกิจระดับผู้บริหาร เจ้าของกิจการ รองลงมาคือ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยช่วงอายุที่พบอยู่ระหว่าง 40-65 ปี และที่พบว่า “เป็นป๋า” แบบนี้มากที่สุดคือช่วงอายุ 40-50 ปี

ส่วน “รูปแบบของเด็กป๋า” หลัก ๆ มี 3 รูปแบบคือ… เป็นคู่นอนประจำ ซื้อขายบริการกันแบบที่ไม่มีการเลี้ยงดูอุปถัมภ์ โดยมีค่าบริการเป็นคราว ๆ ไป ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด, มีการอุปถัมภ์-มีการเลี้ยงดูอย่างต่อเนื่อง นี่ก็อีกรูปแบบ และอีกรูปแบบซึ่งเป็นรูปแบบที่มักจะเกิดจากการติดต่อของ “ป๋า” โดยตรง ก็คือฝ่ายเด็กป๋านั้นมีการยอมรับว่า…

อยู่ในสถานะแบบ “เมียน้อย-เมียเก็บ”

อนึ่ง งานวิทยานิพนธ์ดังกล่าวยังได้จำแนก “ผลประโยชน์ตอบแทน” ที่เป็นปัจจัยทำให้หลายคนเลือกเข้าสู่สถานะ “เด็กป๋า” ไว้ด้วยว่า… ส่วนใหญ่ยอมทำ หรือเลือกที่จะทำโดยสมัครใจ เพื่อแลกกับสิ่งตอบแทนที่ได้รับมา ที่มีทั้งในรูป “เงิน” เช่น ได้เป็นเงินเดือน, “ที่พักอาศัย” เช่น บ้าน อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม, “รถยนต์” สำหรับใช้ส่วนตัว, “ของใช้ส่วนตัว” เช่น โทรศัพท์มือถือที่มีราคาสูง ๆ เป็นต้น และนอกจากนั้น กับ “เด็กป๋า” บางคนก็ยังอาจจะรวมถึงการ “ได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ” นอกเหนือจากผลประโยชน์ดังที่ได้ระบุไว้ข้างต้นอีกด้วย ซึ่งก็เป็นอีก “สิ่งเร้าจูงใจ” ทำให้ตัดสินใจ “เข้าสู่สถานะเด็กป๋า”

ทั้งนี้ ข้อมูลในวิทยานิพนธ์ชื่อ “การจัดการปัญหาพฤติกรรมเด็กป๋า/เด็กเสี่ยของนักศึกษาหญิงแบบเชิงรุก” โดย เกวลี เตรียมแจ้งอรุณ ซึ่งเคยตีพิมพ์ใน วารสารการศึกษาและพัฒนาสังคม ของ มหาวิทยาลัยบูรพา ยังมีส่วนที่สะท้อนภาพ “ปรากฏการณ์สังคมกรณีเด็กป๋า” ไว้อีกด้วยว่า… การขัดสนทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นบริโภคนิยม-วัตถุนิยม มีภูมิคุ้มกันไม่เข้มแข็งพอทางด้านจิตใจ วัฒนธรรม จริยธรรม คุณธรรม ศีลธรรม ทำให้มีผู้หญิงที่เกิดสนใจ สมัครใจต้องการที่จะแสวงหาผลประโยชน์ต่างตอบแทนในรูปแบบ “เด็กป๋า” มากขึ้น …ซึ่งนี่ก็ถือเป็นพัฒนาการ “ปรากฏการณ์เด็กป๋า” แบบหนึ่ง โดยที่…

งานวิชาการเก่าก็ยังฉายภาพยุคใหม่ได้

“เด็กป๋า” “เด็กบิ๊ก” หรือว่า “กิ๊ก ฯพณฯ”

“ต้นสายก่อปลายเหตุ” ก็ “วังวนเดิม!!”.