คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นกีฬาที่รุนแรง…แต่สำหรับตัวหนูแล้ว….มวยให้อะไรกับชีวิตหนูมากมาย เสียงใส ๆ ของ “ผึ้ง-โสมรัศมี ไชยสุยะ” บอกเรื่องนี้ไว้ในช่วงเริ่มต้นบทสนทนากับเราโดยชื่อเสียงของเธอคนนี้เริ่มเป็นที่สนใจจากแวดวงหมัดมวย เพราะเธอถือเป็น “นักมวยหญิงชาติพันธุ์คนแรก” ที่ได้ขึ้นชกทั้งเวทีลุมพินีและเวทีราชดำเนิน ซึ่งเป็นสังเวียนใหญ่ระดับชาติที่นักมวยทุกคนหวังจะได้ขึ้นชกบนเวทีทั้งสองแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม แต่กว่าที่นักมวยหญิงคนนี้จะมาถึงจุดนี้ได้นั้นย่อมไม่ง่าย เส้นทางชีวิตของเธอจึงมีเรื่องราวน่าสนใจและน่าค้นหา ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเธอคนนี้กันให้มากขึ้น…

“ผึ้ง-โสมรัศมี ไชยสุยะ” นักมวยชาติพันธุ์หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ เล่าประวัติตัวเองให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ครอบครัวเธอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายกะเหรี่ยง โดยเธอเกิดและโตที่ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวจะมีด้วยกัน 4 คน คือ คุณพ่อ คุณแม่ ตัวเธอ และน้องสาว ส่วน “เส้นทางนักมวย” ของเธอนั้น เจ้าตัวเล่าว่า เริ่มขึ้นตอนที่เธออายุ 12 ขวบ และอยากได้โทรศัพท์มือถือ แต่ด้วยความที่ฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน คุณพ่อคุณแม่ของเธอมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ทำให้เธอไม่อยากที่จะไปขอเงินให้เป็นภาระคุณพ่อคุณแม่ เธอจึงพยายามมองหาอาชีพที่สามารถหาเงินด้วยตัวเอง โดยความคิดที่จะเป็นนักมวยนั้น ก็ไม่เคยมีอยู่ในหัวมาก่อนเลย จนมีจังหวะหนึ่งเธอได้ไปดูมวยและเห็นว่านักมวยเป็นอาชีพที่สามารถทำเงินได้รวดเร็ว เพราะขึ้นชกแล้วลงมาก็ได้รับเงินค่าตัวเลย เธอจึงเกิดความคิดที่จะต่อยมวยเพื่อหาเงิน ซึ่งเป็นจังหวะพอดีกับที่มี ค่ายมวยเกียรติเยาวนา ตั้งอยู่แถว ๆ บ้าน เธอก็เลยตัดสินใจไปสมัครเพื่อขอเข้าค่ายฝึกซ้อมไปเป็น “นักมวยไทย”

ตอนที่ไปสมัครเข้าค่ายมวย หนูไม่ได้บอกหรือขออนุญาตพ่อแม่ก่อนเพราะไม่กล้าบอก เนื่องจากกลัวว่าท่านจะไม่เห็นด้วย และห้ามไม่ให้ต่อยมวย หนูก็เลยต้องใช้วิธีแอบไปซ้อมหลังเลิกเรียน โดยอ้างกับพ่อแม่ว่าหนูจะซ้อมกีฬาวอลเลย์บอลที่โรงเรียน  เธอบอกเรื่องนี้พร้อมเล่าต่ออีกว่า หลังจากใช้เวลาฝึกซ้อมอยู่ประมาณหนึ่งเดือนกว่า ด้วยความที่อยากได้เงิน เธอจึงไปขอครูมวยที่สอนเธอ ขอขึ้นชกบนเวทีจริง จนที่สุดก็ได้รายการชกครั้งแรก ซึ่งในการชกไฟต์แรกนั้น ผึ้งบอกว่าเธอทุ่มสุดตัวและชนะคู่ชกได้เงินค่าชกมา 500 บาท ซึ่งก็ยังไม่พอที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือที่อยากได้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม ภายหลังการชกไฟต์แรกจบเธอได้ตัดสินใจที่จะบอกความจริงให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับรู้ว่าเธอแอบไปต่อยมวย เธอก็เลยโทรศัพท์ไปบอกคุณพ่อคุณแม่ให้มารับกลับบ้าน ซึ่งพอคุณพ่อรู้ความจริงก็ไม่ได้ว่าอะไร แถมยังดีใจอีกต่างหาก เพราะคุณพ่อของเธอชอบกีฬามวยอยู่แล้ว ส่วนคุณแม่ไม่เห็นด้วยกับการที่เธอจะเป็นนักมวย แต่ด้วยความดื้อของเธอที่อยากจะชกมวย ที่สุดคุณแม่ก็เลยยอม

ทั้งนี้ หลังจากผ่านการชกไฟต์แรกมาได้ เธอก็หมั่นฝึกซ้อมมาตลอด และได้ขึ้นชกอีก 2 ไฟต์จนได้เงินพอที่จะซื้อโทรศัพท์มือถือที่อยากได้ แต่หลังจากเธอได้เงินซื้อโทรศัพท์มือถือตามที่อยากได้แล้วเธอก็กลับมาถามตัวเองว่า จะชกมวยต่อไปดีมั้ย? ซึ่งสุดท้ายเธอก็ได้คำตอบกับตัวเองว่า จะชกมวยต่อไป!!… เพราะเธอคิดว่ามวยก็เป็นกีฬาที่สร้างรายได้ให้ได้ และอย่างน้อยเธอก็ไม่ต้องขอเงินคุณพ่อคุณแม่ใช้ แถมยังช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ด้วย เธอจึงเลือกเดินทางบนถนนสายนักมวยต่อไป โดยเมื่อคิดที่จะจริงจังกับอาชีพนักมวยไทย เธอก็ได้ตั้งใจพยายามฝึกซ้อมต่อ โดยเธอได้มีโอกาสเดินสายขึ้นชกตามเวทีในพื้นที่  อ.ฮอด และอำเภอรอบ ๆ  มาเรื่อย จนเธอเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาทีละนิด ๆ ในฐานะเป็น “นักมวยหญิงฝีมือจัดจ้าน” ทำให้เธอตั้งใจเอาไว้ว่าจะพยายามยกระดับฝีมือตัวเองเพื่อที่จะก้าวไปสู่การเป็น “นักมวยอาชีพ”

จุดเปลี่ยนอีกครั้งเกิดตอนอายุ 16 ปี ตอนนั้นหนูย้ายมาเรียนต่อ ม.4 ที่โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์เชียงใหม่ อ.แม่ริม เพราะเป็นโรงเรียนที่เปิดรับเด็กชาติพันธุ์ อีกทั้งที่โรงเรียนนี้ยังส่งเสริมทั้งเรื่องการเรียนและมวยด้วย โดยที่หนูตัดสินใจย้ายมาเรียนที่นี่เพราะต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ๆ เพื่อนำไปพัฒนาฝีมือตัวเอง เพราะหากอยู่แต่ที่บ้านก็จะไม่ได้พัฒนาฝีมือ ซึ่งการมาเรียนที่นี่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ และได้ประสบการณ์มากขึ้น ผึ้งกล่าว

และที่โรงเรียนนี้นี่เองที่ทำให้เธอได้พบกับ อาจารย์ณรงค์ ฟักตั้ง เป็นผู้ดูแลเรื่องการฝึกซ้อมมวยให้ ซึ่งผึ้งได้มีโอกาสลงนวมขึ้นสังเวียนชกมวยไทยอยู่เรื่อย ๆ เพราะอาจารย์อยากให้เธอได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ โดยผึ้งเล่าว่า เธอได้เจอกับคู่ชกทั้งไทยและชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทักษะการชกของเธอมาก โดยผึ้งยังบอกว่า มีการชกไฟต์หนึ่งที่เธอถือว่าเป็นแมตช์แข่งขันที่ช่วยเสริมกระดูกมวยของเธอให้แกร่งขึ้น นั่นคือที่ เวทีมวยท่าแพ โดยรายการนี้เป็นรายการแรกที่เธอ “ได้แชมป์” จนได้รับเลือกให้เป็น นักกีฬาตัวแทน จ.เชียงใหม่ ไปแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ อีกด้วย ซึ่งต่อมาเธอก็กวาดรางวัลมามากมาย จนทำให้ชื่อเสียงของผึ้งเริ่มเป็นที่พูดถึงในแวดวงกำปั้นของเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง จนในช่วงที่เธอกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.5 เธอก็ได้รับการติดต่อให้ไปชกมวยไทยใน รายการซุปเปอร์แชมป์ (Super Champ) ที่กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้เธอรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเป็นการชกมวยในเมืองหลวงเป็นครั้งแรกในชีวิต 

ตื่นเต้นมากพอรู้ว่าจะได้ชกที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัด การปรับตัวจึงลำบาก โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน เพราะไม่ถูกปาก จนทำให้ท้องเสียก่อนขึ้นชก ซึ่งด้วยความที่สภาพร่างกายไม่พร้อม ที่สุดก็แพ้ ซึ่งหนูยอมรับว่ารู้สึกผิดหวังมากกับไฟต์นี้ เพราะคาดหวังไว้สูง ผึ้งเผยความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับไฟต์การชกครั้งนั้น    

กับคุณพ่อ

เจ้าตัวยังเล่าให้ฟังอีกว่า เธอยอมรับว่าไฟต์นั้นเธอคาดหวังมากเกินไป ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ได้ชกมวยออกทีวีด้วย เมื่อพลาดจึงรู้สึกผิดหวังมาก ซึ่งหลังจากชกแพ้คุณแม่ก็โทรฯ หาและร้องไห้เพราะเป็นห่วงเรา และไม่อยากให้เธอชกมวยอีกต่อไป เพราะเห็นเธอเจ็บตัวก็ยิ่งสงสาร ซึ่งหลังจากวันนั้นเธอก็เก็บตัวอยู่แต่ในห้องเป็นสัปดาห์ เพราะไม่อยากออกมาเจอใคร และท้อจนไม่อยากชกมวยอีก จนอาจารย์ณรงค์มาพูดให้กำลังใจกับเธอ โดยได้ปลอบเธอว่า ไม่มีใครชนะได้ทุกครั้ง ดังนั้นให้เก็บเอาความพ่ายแพ้มาเป็นบทเรียน เพื่อที่จะฝึกซ้อมให้ดียิ่งขึ้นจะดีกว่า จนทำให้เธอหวนกลับมาคิดว่า อยากจะเลิกชกมวยจริงมั้ย? ซึ่งถ้าเลิกชกมวยทุกอย่างที่ทำมาก็จะสูญเปล่า ทำให้เธอมีกำลังใจฮึดสู้ขึ้นมาอีกครั้ง โดยการกลับมาอีกครั้งนั้น ผึ้งเล่าว่า เริ่มซ้อมหนักมากขึ้น และพยายามขึ้นชกบ่อย ๆ เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ จนช่วงอายุ 18-19 ปี เธอได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แต่เรียนอยู่ได้แค่ 1 ปี เธอก็ตัดสินใจย้ายมาเรียนที่มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตสุโขทัย คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา

เมื่อเส้นทางชีวิตดำเนินมาถึงจุดนี้ ผึ้ง ก็ต้องมาเจอกับมรสุมชีวิตอีกครั้ง เมื่อคุณพ่อของเธอเสียชีวิต ทำให้เธอต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว เพราะเหลือเพียงแค่คุณแม่กับน้องสาว โดยเธอต้องช่วยดูแลครอบครัวแทนคุณพ่อ ต้องช่วยหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว จึงทำให้เธอต้องเข้มแข็ง และต่อมาเธอก็มีโอกาสได้ขึ้นชกที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง โดยเป็นรายการชกที่สนามมวยลุมพินี ซึ่งเธอเป็น นักมวยชาติพันธุ์หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นชกที่เวทีลุมพินี โดยถูกจับคู่ให้เป็นคู่เอกของรายการ ซึ่งครั้งนั้นแม้เธอจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่เธอก็ไม่ได้ท้อแท้ แถมยังคิดว่าเพราะฝีมือยังไม่ดีพอ ดังนั้นจะต้องพัฒนาอีก ต้องฝึกซ้อมให้ดีกว่าเดิม

กับ อ.ณรงค์ ครูมวยคนสำคัญ

อย่างไรก็ตาม แต่หลังรายการใหญ่ที่เวทีลุมพินีไม่นาน ก็เกิดโควิด-19 ระบาด ทำให้ไม่มีรายการชกมวย จนเธอขาดรายได้ เธอเลยต้องหางานอื่นทำ เรียกว่าช่วงนั้นทำทุกอย่างที่ได้เงิน ทั้งล้างจาน ทำงานโรงงานลำไย หรือแม้แต่เป็นแม่ค้าขายโทรศัพท์มือถือออนไลน์ ซึ่งแม้ภายหลังจะกลับมาชกได้แล้ว แต่เธอก็ยังทำอาชีพค้าขายควบคู่ไปกับการชกมวยด้วย เพราะคิดว่าจะไม่ประมาทกับชีวิตแล้ว …ผึ้งเล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง

หลังจากโควิด-19 เริ่มเบาลง และรายการมวยเริ่มกลับมาชกได้อีกครั้ง เธอก็เริ่มกลับมาฝึกซ้อมจนฟอร์มของเธอได้ไปเข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่ในสมาคมมวยไทยสมัครเล่น โดยทางสมาคมฯ ดังกล่าวได้ติดต่อมาทางอาจารย์ณรงค์ เพื่อขอตัวเธอไปติด ทีมชาติมวยไทยสมัครเล่น เพื่อไปแข่งขัน รายการมวยไทยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก 2022 (IFMA World Championships 2022) ซึ่งจัดที่กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตอนนั้นตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้รับใช้ชาติ ซึ่งรายการนี้หนูได้เหรียญเงินติดไม้ติดมือกลับมาด้วย ผึ้งเล่าถึงเรื่องนี้ด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

ลุคหวานในชุดพื้นเมืองและชุดประจำเผ่า

ก่อนจะเล่าอีกว่า พอกลับมาจากการแข่งขันรายการนั้น ก็มีคนมาติดต่อให้เธอไปต่อยที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน โดยเธอฝึกซ้อมอยู่ประมาณ 1 สัปดาห์ ก็เดินทางไปชกรายการดังกล่าว และผลการชกนั้นเธอสามารถเอาชนะคู่ชกชาวต่างชาติได้ แต่สิ่งที่ทำให้ชาวโลกจดจำเธอได้ก็คือ เธอสวมชุดชนเผ่ากะเหรี่ยงของเธอขึ้นไปบนเวที จนทำให้ชื่อเสียงของเธอกลายเป็นที่สนใจทั้งของชาวไทยและชาวต่างชาติมากขึ้น ในฐานะ “นักมวยไทยหญิงที่เป็นคนชาติพันธุ์” และเมื่อเดินทางกลับมาจากสเปน เธอก็ได้รับโอกาสอีก โดยได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 8 นักมวยหญิงชุดแรกในประวัติศาสตร์ที่จะได้ขึ้นชกบนเวทีราชดำเนิน โดยเป็นรายการชื่อ  Rajadamnern World Series (RWS) และที่สำคัญก็คือในจำนวนนักมวยหญิง 8 คนที่จะขึ้นชกนั้น “ผึ้ง-โสมรัศมี” เธอเป็น “นักมวยหญิงคนเดียวที่เป็นคนชาติพันธุ์”

นอกจากดีใจที่จะได้เป็นนักมวยหญิงชุดแรกที่จะได้ชกที่ราชดำเนิน เพราะตลอด 77 ปี เวทีราชดำเนินไม่เคยอนุญาตให้นักมวยหญิงขึ้นชกที่นี่เลย หนูก็ยังรู้สึกภูมิใจด้วยที่เราจะได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักมวยหญิงที่เป็นคนกะเหรี่ยงคนแรกที่ได้ขึ้นชกบนเวทีสำคัญแห่งนี้ ผึ้งบอกเล่าความรู้สึกของเธอจากการจะได้ชกไฟต์ประวัติศาสตร์บนเวทีระดับตำนานอย่างสนามมวยราชดำเนิน ซึ่งไฟต์นั้นเพิ่งจะผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยเธอคว้าชัยชนะจากการชกกับคู่ชกชาวต่างชาติได้ และตอนนี้ก็กำลังรอที่จะขึ้นชกในไฟต์ที่ 2 ในวันที่ 16 ก.ย. 2565 ที่จะถึงนี้

รายการนี้ก็ตั้งใจเต็มที่ จะพยายามทำให้ดีที่สุด ถ้าเป็นไปได้หนูก็อยากคว้าแชมป์ให้ได้ จะได้นำเงินรางวัลมาให้แม่ อยากทำให้แม่ภูมิใจ ซึ่งก่อนหน้านี้หนูก็เพิ่งปลูกบ้านให้แม่กับน้องสาวจากเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรง ผึ้งระบุ

กับคุณแม่ และน้องสาว

ในช่วงท้ายของบทสนทนา “ทีมวิถีชีวิต” ถามถึง “เป้าหมายชีวิต” โดย ผึ้ง-โสมรัศมี นักมวยหญิงชาติพันธุ์ ให้คำตอบว่า ตอนนี้เธอขอชกมวยต่อไปให้ดีที่สุดก่อน แต่ถ้าอายุเพิ่มขึ้น หรือหากถึงตอนที่อายุ 24-25 ปี เธอก็คงจะคิดเรื่องแขวนนวม ซึ่งแผนชีวิตที่คิดไว้คือ เธอตั้งใจจะพยายามสอบเข้าราชการ และตั้งใจจะพยายามชกมวยและทำงานเพื่อที่จะเก็บเงินให้ได้สักก้อนหนึ่ง เพื่อนำไปเปิดร้านขายของหรือทำธุรกิจของตัวเองที่บ้านเกิด เพื่อที่จะได้อยู่กับครอบครัวและได้ดูแลคุณแม่และน้องสาวมากขึ้น เพราะที่ผ่านมานั้นเธอต้องตระเวนต่อยมวยตลอด จนทำให้ไม่ค่อยมีเวลาได้อยู่กับครอบครัวมากนัก

ถ้ามีเวลา หนูจะกลับบ้านไปอยู่กับแม่กับน้องให้มากที่สุด เพราะช่วงที่ต้องชกมวยเราแทบไม่ค่อยได้มีเวลาอยู่ด้วยกัน เพราะต้องเก็บตัวและตระเวนแข่งขัน ซึ่งสำหรับหนูชื่อเสียงรางวัลเกียรติยศที่ได้นั้นทำให้รู้สึกภูมิใจ แต่สุดท้ายแล้ว สิ่งที่รักมากที่สุดก็คือครอบครัว เพราะครอบครัวเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่สำหรับหนู เวลาที่เราเหนื่อยเราเจ็บเราท้อ สิ่งที่ช่วยทำให้หนูนั้นสามารถกลับมายืนได้ใหม่…กลับมาสู้ใหม่ได้ในทุก ๆ ครั้งที่ล้มหรือท้อ…คือคำพูดของแม่…

คือคำปลอบใจของแม่.

‘บทเรียนที่มีค่า’ จาก ‘วิชาล้มเหลว’

เหรียญเงิน มวยไทยสมัครเล่นชิงแชมป์โลก

“ผึ้ง-โสมรัศมี ไชยสุยะ” นักมวยหญิงชาติพันธุ์ บอกด้วยว่า ทุกครั้งที่แพ้ในการแข่งขัน “สิ่งสำคัญคืออย่าท้อ” แต่ขอให้ “นำบทเรียนหรือความล้มเหลวมาเรียนรู้เพื่อที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด” ที่เกิดขึ้น โดยเธอยังได้ให้คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากจะประสบความสำเร็จในสายกีฬาว่า คุณสมบัติของนักกีฬาที่ประสบความสำเร็จ นั้น ที่เห็นชัดเจนที่สุดคือนักกีฬาเหล่านั้นล้วนมี “วินัย” และ “ความรับผิดชอบ”ซึ่งทุกคนก็สามารถทำได้ ด้วยการตั้งเป้าหมายชีวิตไว้ แล้วทุ่มเทพยายามเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ’แม้ระหว่างที่ฝันไว้ เราจะล้มจะแพ้บ้างก็อย่าไปท้อ เพราะทุกคนพลาดกันได้ ซึ่งถ้าเราไม่ล้มไม่พลาด เราก็จะไม่มีบทเรียนสำคัญนำมาใช้เป็นแรงผลักดัน อย่างผึ้งเองที่ผ่านมาก็เจอปัญหาชีวิตเยอะมาก แต่เราก็ยังผ่านมาได้ เพราะว่าเราเอาความล้มเหลวนั้นมาใช้เป็นบทเรียนสอนตัวเราเอง“.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน