นายสราวุธ   ทรงศิวิไล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงทาง กรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมฯมีนโยบายจัดระเบียบแผงค้าและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำทางหลวงทั่วประเทศ ทั้งแผงถาวรคือขายตลอดทั้งปี และแผงชั่วคราววางขายช่วงสั้นๆประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือนำสินค้ามาขายตามฤดูกาล เช่น  ขายหน่อไม้ เห็ด สาลี่นมสด พุทรานมสด ช่วงที่มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก แม้การตั้งแผงขายเพื่อหารายได้และกระจายสินค้า เป็นอาชีพสุจริต  แต่การรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ  ถือว่าผิดกฎหมายไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยมีผลกระทบในการเดินทางของประชาชน  ทั้งกีดขวางการจราจร  ผู้ค้าเองเสี่ยงอันตรายจากอุบัติเหตุ  ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานและกระจายหลายพื้นที่

ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงเองก็มีไม่พอในการกวดขันดูแล แต่จะเดินหน้านโยบายดังกล่าวเร่งจัดระเบียบให้เรียบร้อยทั่วประเทศภายใน1-2 ปี ต้องไม่มีแผงค้าและสิ่งปลูกสร้างในเขตทางหลวง เพื่อความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง  ส่วนที่ต้องใช้เวลานานนับปีเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต้องใช้เวลา 

นายสราวุธ กล่าวต่อว่า นโยบายของกรมฯ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่สั่งการให้จัดระเบียบโดยสนับสนุนกำลังจากทุกภาคส่วนทั้ง ทหาร ตำรวจ  และจังหวัด  เพื่อร่วมกันจัดระเบียบ และใช้มาตรการเริ่มจากการเจรจากับผู้ค้าเพื่อสร้างความเข้าใจก่อน เช่น ภายใน 3เดือนต้องย้ายออกจากพื้นที่ เพื่อให้ผู้ค้าเตรียมตัว และช่วยจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมมาเยียวยาผู้ค้าไปอยู่รวมกันเช่น เป็นศูนย์โอท็ฮป หรือศูนย์รวมสินค้า  ห่างจุดเดิมประมาณ3-4 กม. แต่อยู่นอกเขตทางหลวงและเดินทางสะดวก   จากนั้นเมื่อถึงเวลากำหนดก็ร่วมกับทหารตำรวจและฝ่ายปกครองจัดการกับผู้บุกรุกที่ไม่ยอมย้ายออก  อาจต้องเข้าไปรื้อถอนเอง  โดยที่ผ่านมา  อาทิ  รื้อแผงขายโรตีสายไหมริมถนนสายเอเชีย  ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา  ย้ายได้แล้ว 90%  คาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะรื้อย้ายได้หมด  เนื่องจากผู้ค้าบางส่วนขอเวลารื้อถอน รวมถึงร้านไก่ต้มน้ำปลา  ถนนเพชรเกษม จ. เพชรบุรี ก็มีความคืบหน้าเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับทางหลวงทั่วไป  มีเขตทางจากแนวร่นถนนเข้าไป6 เมตร  หมายความว่าใน 6เมตรนี้ห้ามปลูกสร้างรุกล้ำทางหลวง แต่ลึกเข้าไปเกิน 6 เมตร สามารถวางแผงค้านอกเขตทางได้