ประเพณีออกหว่าเป็นงานประเพณีออกพรรษาของชาวไทใหญ่ที่สืบทอดมากว่า 600 ปี เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับโลกมนุษย์หลังจากเสด็จโปรดพระมารดา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในวันขึ้น 15 คํ่า เดือน 11 คำว่า “ออกหว่า” หมายถึง การออกจาก
ฤดูฝน
แต่ละบ้านจะจัดทำซุ้มราชวัตร หรือปราสาทรับเสด็จพระพุทธเจ้า ชาวไทใหญ่เรียกว่า “กยองเข่งปุด” โดยจะทำซุ้มประตูบ้านให้เป็นรูปปราสาท ประดับประดาด้วยโคมไฟหูกระต่าย ตกแต่งด้วยดอกไม้ ต้นกล้วย ต้นอ้อย ช่อตุง ประทีปโคมไฟ เปรียบเหมือนการต้อนรับพระพุทธเจ้าที่พระองค์เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ โดยแต่ละบ้านจะจัดทำซุ้มราชวัตรขนาดพอเหมาะหน้าบ้านก่อนงานออกหว่าอย่างน้อย 3-5 วัน และจะมีซุ้มราชวัตรศูนย์กลางที่ชุมชนร่วมกันจัดทำขึ้น ซึ่งจะจัดล่วงหน้าอย่างน้อยสองวัน คือก่อนวันขึ้น 14 คํ่า เดือน 11 ของทุกปี

โดยจะมีการตักบาตรพระสงฆ์ที่หน้าบ้านของแต่ละคนในเวลาตี 4 ตลอด 3 วัน ซึ่งถือเป็นการตักบาตรที่เช้าที่สุดในประเทศไทย เริ่มด้วยการตักบาตรอาหารสดในวันแรก ส่วนอีกสองวันที่เหลือจะตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง ชาวอำเภอแม่สะเรียงมีความเชื่อว่า การตักบาตที่หน้าบ้านของตนเอง จะเป็นสิริมงคลต่อบ้านและคนในครอบครัว พระภิกษุและสามเณรกว่า 200 รูป จะเดินบิณฑบาตไปตามถนนสายต่าง ๆ

ในวันแรม 1-14 คํ่า เดือน 11 จะมีกิจกรรมแห่เทียนเหง ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเป็นการถวายเป็นพุทธบูชาเป็นประเพณีหนึ่งที่สืบทอดมาจากไทใหญ่ “เทียนเหง” เป็นภาษาไทใหญ่ แปลว่า เทียนพันเล่ม และเรียกประเพณีนี้ว่า “หลู่เตนเหง” คำว่า “หลู่” แปลว่า ถวาย หรือ ทาน คำว่า “เตน” แปลว่า เทียน และคำว่า “เหง” แปลว่า หนึ่งพัน ภายในขบวนมีการจัดสิ่งของเครื่องไทยธรรม เทียน 1 พันเล่ม โคมหูกระต่าย โคมกระบอก ตุงและตุงจ่องกรวยดอกไม้อย่างละ 1 พัน ในคืนวันแห่จะมีขบวนสตรีที่แต่งกายแบบหญิงไทใหญ่นำเครื่องไทยธรรมร่วมขบวน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้นโคมหูกระต่ายที่ทำเป็นชั้น ๆ เหมือนฉัตร หรือรูปพีระมิด 1 ต้น และต้นเกี๊ยะ ซึ่งมาจากการนำไม้สนสามใบมาจักเป็นชิ้นเล็ก ๆ ยาวประมาณ 2.5 เมตร แล้วนำมามัดรวมกันเป็นต้นเกี๊ยะเพื่อจุดบูชาพระพุทธเจ้า

ขบวนแห่เทียนเหงจะแห่จากที่ว่าการอำเภอแม่สะเรียงไปตามวัดต่าง ๆ ในเขตเทศบาลแม่สะเรียง พร้อมกับมีการละเล่นที่แสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชน มีการแต่งตัวเป็นเทพบุตร เทพธิดา และสัตว์ป่าหิมพานต์ การฟ้อนโต การฟ้อนกิ่งกะหล่า การฟ้อนกํ๋าเบ้อคง การฟ้อนเขียดแลว การฟ้อนผีโขน เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการกลับจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า

นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการประเพณีออกหว่า ณ ลานวัฒนธรรม วัดอุทธยารมณ์ (วัดจองสูง) ถนนคนเดิน และนิทรรศการหน่วยงานต่าง ๆ ณ บริเวณรอบเทศบาลตำบลแม่สะเรียง กิจกรรม ณ ลานวัฒนธรรม วัดอุทธยารมณ์ วัดศรีบุญเรือง อาทิ ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองแม่สะเรียง, กาดหมั้ว ครัวฮอม การประกวดธิดาออกหว่า ณ เวทีกลางหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่สะเรียง และกาดหมั้วครัวฮอม

มาถึงแม่สะเรียงแล้วต้องไปสักการะพระธาตุสี่จอมที่สร้างโดยพระฤๅษีสี่พี่น้องเพื่อให้คนชาวเมืองยวมได้มากราบไหว้สักการบูชา เริ่มที่ “วัดจอมแจ้ง” หรือวัดพระธาตุจอมแจ้ง ทั้งยังเป็นพระธาตุคู่บ้านคู่เมืองคอยปกป้องชาวเมืองยวม นอกจากจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฐานด้านล่างของพระธาตุจอมแจ้ง มีหลักศิลาประทับรอยมือของ “ต๊ะ” หรือ ครูบาเจ้าชัยวงศา ตั้งประดิษฐานไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชาแล้ว ยังมีทิวทัศน์อันสวยงามของอำเภอแม่สะเรียงโดยเฉพาะยามพระอาทิตย์ตกในช่วงเย็น กับภาพทุ่งนาและบ้านเรือนของชาวอำเภอแม่สะเรียง

อีกหนึ่งในสี่จอมคู่บ้านคู่เมืองยวม คือ “วัดจอมทอง” มีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขา และอนุสาวรีย์ครูบาอินสม ว่ากันว่าเป็นจุดชมวิวเมืองแม่สะเรียงยามเย็นที่สวยงามอีกแห่งด้วย

ถัดมาคือ “วัดพระธาตุจอมมอญ” ไม่มีหลักฐานปรากฏชัดว่าพระธาตุองค์นี้สร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีการค้นพบกู่คำซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 ราชวงศ์มังราย โดยให้อุปราช เจ้าแสนคำ เป็นผู้สร้าง เวลาผ่านไปพระเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมเหลือแต่ซากปรักหักพังเป็นหลุมคล้ายปลักควาย จนถึง พ.ศ. 2453 พ่อเฒ่าหม่อนจอนุ แม่หม่อนโยแฮ พิกุล ได้สร้างเจดีย์ใหม่ครอบองค์เก่า และปี พ.ศ. 2540 ทางวัดจึงได้สร้างครอบองค์เดิมให้ใหญ่และสูงขึ้น โดยได้บรรจุพระบรมธาตุพระหนุ (ส่วนคาง) และพระอุรังคธาตุ ชาวบ้านนับถือว่าเป็นพระธาตุที่มีความศักดิ์สิทธิ์และมีความสวยงามไม่แพ้พระธาตุองค์อื่น ๆ

จอมสุดท้ายคือ “วัดพระธาตุจอมกิตติ” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2256 บนยอดเขาทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอแม่สะเรียง มีลักษณะรูปทรงศิลปกรรมแบบล้านนา ภายนอกองค์เป็นสีขาว ส่วนยอดเจดีย์มีสีทอง เล่ากันว่าฤๅษีผู้พี่ หนึ่งในสี่ฤาษีผู้สร้างพระธาตุสี่จอม เก่งในทางรักษาโรค สามารถปรุงยาชุบชีวิตคนตายให้ฟื้นคืนชีพได้ ตั้งสำนักอยู่ ณ “ดอยจอมกิตติ” จึงทำให้พระธาตุจอมกิตติดูเหมือนจะเป็นพี่ใหญ่และเป็นที่เคารพสักการะมาถึงปัจจุบัน

นอกจากพระธาตุสี่จอมแล้ว ยังมี “วัดสุพรรณรังษี” (จองคำ) กับเจดีย์สีทองอร่าม กับอาคารศิลปะไทใหญ่คล้ายกับวัดในประเทศเมียนมา “วัดกิตติวงศ์” เดิมเรียกว่า “วัดชัยสงคราม” ไม่มีหลักฐานจารึกวันเดือนปีที่สร้างไว้แต่อย่างใด ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า เป็นวัดเก่าแก่สร้างกันมานาน และมีความสำคัญวัดหนึ่งในอำเภอแม่สะเรียง วัดที่เก็บรักษาพระคัมภีร์โบราณที่ค้นพบจากถํ้าผาแดง ริมฝั่งแม่นํ้าสาละวิน และประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่พระครูกิตตินำมาจากวัดศรีสุพรรณ จังหวัดเชียงใหม่

“วัดจองสูง” หรือวัดอุทยารมณ์มีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นอย่างเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญสามองค์ที่มีความเก่าแก่กว่า 100 ปี พระเจดีย์องค์ทางทิศตะวันตกสร้างขึ้นในสมัยต้นรัชกาลที่ 6 พระเจดีย์องค์กลางไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด เดิมทีเป็นพระเจดีย์ที่เก่าเหลือแค่ครึ่งองค์ และมีผอบทองรูปเต่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุอยู่ข้างใน ภายหลังได้ทำการบูรณะใหม่จนเสร็จในปี พ.ศ. 2499 ส่วนเจดีย์เจ็ดยอดแบบชเวดากองทางทิศตะวันออก เดิมเป็นวิหารแบบไทยใหญ่ หลังคาซ้อนเป็นชั้น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปก่ออิฐ 9 องค์ ต่อมาไฟไหม้วิหารหมด เหลือเพียงพระพุทธรูปตากแดดตากฝนอยู่ จึงได้ก่อสร้างพระเจดีย์เพื่อบรรจุพระพุทธรูปที่เหลือจากไฟไหม้ครั้งนั้น เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน 3 ของทุกปีจะมีการจัดงานนมัสการพระเจดีย์

“วัดศรีบุญเรือง” เดิมชื่อ “วัดหมากแกง” จัดเป็นวัดที่มีความสวยงาม หลังคาซ้อนเป็นชั้น ๆ ของศาลาหลังใหญ่ตามแบบฉบับของไทใหญ่ ใช้เป็นทั้งวิหาร กุฏิ และศาลาการเปรียญ พระอุโบสถมีหลังคาฉลุลวดลายสวยงาม ภายในประดิษฐานพระประธานแบบเมียนมา พระพุทธรูปหยกขาว เป็นพระพุทธรูปที่ทำจากหยกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แกะสลักจากเมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดแห่งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก

สุดท้าย “วัดจันทราวาส” หรือ วัดมันตะเล วัดที่มีรูปแบบเป็นศิลปะแบบเมียนมา เป็นสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมประเพณีและเผยแผ่ทางพุทธศาสนา มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ทั้งซุ้มประตูหน้าวัด ศาลาการเปรียญ และหอระฆัง เป็นศิลปะผสมผสานไทใหญ่และเมียนมา

งานประเพณีออกหว่า เทศกาลออกพรรษา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-11 ตุลาคม 2565 ณ เขตเทศบาลตำบลแม่สะเรียง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน.

อธิชา ชื่นใจ