โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็น “คู่รักวงการบันเทิง” ก็จะยิ่งเป็นกระแสอื้ออึงมาก-ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเซ็งแซ่ ซึ่งจริง ๆ เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ที่ “รักได้…ก็เลิกรักได้” อย่างไรก็ตาม เรื่องธรรมดาเรื่องนี้กับหลาย ๆ คนก็มักจะสนใจติดตามมากเป็นพิเศษ ขณะที่ยุคโซเชียลมีเดียอย่างยุคนี้ก็ต้องระมัดระวัง “อย่าอินเกินไป-อย่าไปล้ำเส้น” จนเป็นเรื่อง!!…

“โพสต์-แชร์” ในลักษณะ “หมิ่นเหม่”…

“เป็นเรื่องทางกฎหมาย” ล่ะก็ “ยุ่งแน่!!”

ทั้งนี้ ดูกันในภาพรวม ๆ ไม่เฉพาะเจาะจง ว่ากันถึง “ปัจจัยรักร้าว” หนึ่งใน “สาเหตุทำให้เกิดรักร้าง” นั้นก็มีเรื่องการ “นอกใจ” รวมอยู่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาในสังคมไทยก็เกิดกระแสเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เนือง ๆ โดยมีหลาย ๆ กรณีที่มีการ “คบซ้อน-แต่งซ้อน” เกิดกระแสครึกโครม-เสียงวิพากษ์วิจารณ์ระเบ็งเซ็งแซ่ ซึ่งกับปัญหาชีวิตรัก-ชีวิตคู่ กับกรณี “นอกใจคู่รัก” นั้น กรณีลักษณะนี้ในทางวิชาการก็ได้มีการศึกษาไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มข้อมูลมาสะท้อนต่อ…

เกี่ยวกับการศึกษา “ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนอกใจ” ที่ว่านี้…เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์เมื่อปี 2552 ในหัวข้อ “การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองและบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบต่อพฤติกรรมการนอกใจในคู่สมรส” โดย ธันยธร อนันต์วิโรจน์ ในฐานะนักศึกษาสาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มี ผศ.ดร.คัคนางค์ มณีศรี เป็นที่ปรึกษา ซึ่งการ “ศึกษาเชิงจิตวิทยาสังคม” กรณีนี้ถึงตอนนี้ก็ยังน่าพิจารณาไม่น้อย…

ฉายภาพ “ปัจจัยปัญหา-ปัจจัยกระตุ้น”

ที่ทำให้เกิด…“พฤติกรรมการนอกใจ!!”

สำหรับการศึกษาในทางวิชาการเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวนี้ ทางผู้ที่ดำเนินการได้มีการเน้นย้ำเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ว่า… ก็เพื่อที่จะค้นหา “ปัจจัยภายในตัวบุคคลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมนอกใจ” ว่า…มีปัจจัยใดที่กระตุ้นบ้าง??? โดยในการศึกษาเรื่องนี้ก็ได้ศึกษาทั้งกลุ่มตัวอย่างเพศชายและเพศหญิง ที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสอย่างถูกกฎหมายแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน …ซึ่งคำตอบที่ทำให้เกิดพฤติกรรมนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง?? ก็ลองมาพิจารณากัน…

ในแหล่งข้อมูลดังกล่าวได้มีการระบุถึงผลการศึกษาที่พบไว้ว่า… “ตัวแปรสำคัญ” ที่นำมาใช้ทำนาย “พฤติกรรมการนอกใจ” ก็คือ “การผูกมัดกับคู่สมรส” กล่าวคือ… บุคคลที่ได้มีการผูกมัดกับคู่สมรสมักจะพิจารณาถึงผลลัพธ์ระยะยาวจากการกระทำมากกว่าพฤติกรรมที่เป็นผลประโยชน์ในระยะเวลาสั้น ๆ และจริง ๆ ก็มักรู้สึกผิด รู้สึกเศร้าเสียใจ หรือรู้สึกอับอาย เมื่อมีพฤติกรรมนอกใจคนรักหรือคู่สมรส โดยกลุ่มตัวอย่างนี้มักจะไตร่ตรองและพิจารณาเสมอว่า…การกระทำของตนจะทำให้คู่ครองต้องเจ็บปวดเพียงใด?? ด้วยเหตุนี้… เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่มีพฤติกรรมผูกมัดคู่สมรส แล้ว ก็พบว่า…

กลุ่มที่มีพฤติกรรมผูกมัดกับคู่สมรส…

ไม่ค่อยมีแนวโน้มที่จะเกิดนอกใจ??…

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรด้าน “บุคลิกภาพ” ในเรื่อง “ความหลงตนเอง” และ “การเปิดรับประสบการณ์” รวมถึง “การมีจิตสำนึก” นั้น ก็นับว่า มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมกรณีนอกใจ ด้วยเช่นกัน เพียงแต่ จะแตกต่างกันในเพศชายและเพศหญิง คือ… ใน เพศชาย ตัวแปรบุคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อกรณีนอกใจมากที่สุด ได้แก่ “การมีจิตสำนึก” ขณะที่ใน เพศหญิง ตัวแปรบุคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อกรณีนอกใจมากที่สุด คือ “การหลงตนเอง” …โดยมีอิทธิพลทั้งทางตรง-ทางอ้อม

ทั้งนี้ การศึกษาในหัวข้อ “การวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านของบุคลิกภาพแบบหลงตนเองและบุคลิกภาพห้าองค์ประกอบต่อพฤติกรรมการนอกใจในคู่สมรส” ดังกล่าว ยังได้มีการเผยผลศึกษาที่พบเพิ่มเติมจากเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นั่นคือ… เพศชายมีพฤติกรรมนอกใจมากกว่าเพศหญิง ซึ่งกับประเด็นนี้ก็ตรงกับสภาพสังคมไทยที่มีการมองภาพเพศชายนับแต่อดีต คือ…

“เป็นธรรมชาติของผู้ชาย” ที่จะ “เจ้าชู้”

การนอกใจของผู้ชายดูเป็นเรื่องปกติ??

แตกต่างจากการมองภาพเพศหญิง ที่ถ้ามีพฤติกรรมเช่นเดียวกัน มักถูกดูหมิ่น ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม ทั้งนี้ จากการศึกษาพฤติกรรมที่นำสู่การนอกใจของเพศหญิง มักจะมีรูปแบบเป็นการหว่านเสน่ห์ การส่งข้อความ การแอบขอเบอร์โทรศัพท์ เป็นต้น ขณะที่ เพศชายมีการกระทำที่ชัดเจนเมื่อมีการนอกใจ เช่น พาเข้าโรงแรม มีเพศสัมพันธ์

สำหรับ “ทัศนคติ” ระหว่าง “เพศชาย-เพศหญิง” กับ “พฤติกรรมนอกใจ” นั้น มีการ “มองแตกต่างกัน” โดยเพศชายจะตีความการนอกใจว่าหมายถึงการที่ไปมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่น แต่ เพศหญิงมองว่าไม่ว่าจะเป็นด้านเพศสัมพันธ์ หรือแค่ด้านจิตใจก็ถือเป็นพฤติกรรมนอกใจทั้งสิ้น…นี่ก็เป็นอีกส่วนที่น่าพิจารณาจากการศึกษาเรื่อง “นอกใจ”

ยุคนี้ “รักแล้วเลิก” นี่ “สังคมเปิดกว้าง”

“ฝ่ายหญิงเลิก” นั้น “สังคมก็เข้าใจได้”

แต่ “นอกใจ” นี่ “ถึงเป็นชายก็ยังเละ!!”.