ยุคนี้การก่อสร้างกำลังเติบโตอย่างมาก  ไม่ว่าจะเป็นอาคารบ้านเรือน คอนโดมิเนียม ที่พักอาศัย สำนักงาน โรงงาน และอื่น ๆ อีกมากมาย แม้เศรษฐกิจจะไม่รุ่งเรืองแต่การก่อสร้างก็ยังคงดำเนินต่อไป ไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งสถานการณ์ความเติบโตในธุรกิจก่อสร้างได้ส่งผลให้วันนี้เกิดความขาดแคลนผู้ควบคุมงาน หรือ โฟร์แมน รวมถึงบุคลากรด้านการก่อสร้างอย่างมาก

วันนี้ รายการทีช ทอล์ค ทัวร์ ได้มีโอกาสไปที่ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต สถานศึกษาเฉพาะทางด้านการก่อสร้าง ตั้งอยู่ที่ซอยระนอง 2 เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  หากพูดถึงชื่อ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต หรือ โรงเรียนช่างก่อสร้างดุสิต ต้องบอกก่อนว่าเป็นที่รู้จักดีของคนในวงการก่อสร้าง เพราะเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาของรัฐบาลที่เน้นการผลิตบุคลากรประเภทวิชาชีพช่างก่อสร้างโดยเฉพาะมาถึง 63 ปี มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ การเป็นสถาบันก่อสร้างครบวงจร โดยมีการจัดการเรียนการสอนครบทั้ง 5 ช่างที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง ได้แก่ สาขาวิชาช่างสถาปัตยกรรม  ช่างโยธา ช่างสำรวจ ช่างก่อสร้าง และช่างเครื่องเรือนและตกแต่งภายใน
    
วิทยาลัยเทคนิคดุสิต หรือ โรงเรียนช่างก่อสร้างดุสิต เคยมีนักเรียน นักศึกษาเป็นหลักพันคน แต่ระยะหลังจำนวนผู้เรียนลดลงอย่างมาก ซึ่งถือว่าสวนทางความต้องการของตลาดแรงงาน แต่เมื่อมีของดีอยู่วันนี้วิทยาลัยเทคนิคดุสิต กำลังกลับฮึดอีกครั้งปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และเน้นเรื่องการลงมือปฏิบัติเพื่อผลิตกำลังคนป้อนตลาด โดย อาจารย์ วัฒนา บุญวิรัตน์ ครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ทำหน้าที่รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคดุสิตเปิดการเรียนการสอนครบทั้ง 5 ช่าง ได้แก่ สาขาวิชาช่างก่อสร้าง ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ หรือ ปวช. เป็นหลักสูตร 3 ปี และ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง หรือ ปวส.หลักสูตร 2 ปี และ ปริญญาตรี หรือเทคโนโลยีบัณฑิต หลักสูตรต่อเนื่อง 2 ปี สาขาเทคโนโลยีการก่อสร้าง ซึ่งเป็นหลักสูตรทวิภาคี โดยรับคนที่จบระดับ ปวส.และทำงานแล้วมาเรียนต่อเนื่อง 2 ปี
    
นอกจากนี้ยังมีโครงการพิเศษ “โครงการตามรอยเบื้องพระยุคลบาท” ที่ได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักศึกษาที่เป็นเด็กชายขอบ ในพื้นที่ห่างไกล เช่น จังหวัดน่าน เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก ชลบุรี มาเรียนระดับ ปวช.สาขาวิชาช่างสำรวจ โดยเข้ามาเป็นเด็กพักนอนมีทุนการศึกษา ที่พัก และอาหารให้ มีอาจารย์ดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งโครงการนี้สามารถลดต่าง ๆ ได้อย่างมาก ทั้ง ปัญหาออกกลางคัน ยาเสพติด ชู้สาว ทะเลาะวิวาท เรียกว่าลดได้แทบจะ 100%
    
สำหรับเหตุผลที่จำนวนผู้เรียนหลักสูตรก่อสร้างลดลงนั้น จากการวิเคราะห์ อาจารย์วีระ ผลินยศ หัวหน้าแผนกช่างก่อสร้าง บอกว่า ส่วนหนึ่งเพราะศิษย์เก่าที่จบออกไปก็ไปเรียนต่อ แล้วไปเป็นครูอาจารย์ก็เปิดสอนในสาขาวิชาเหมือนกับที่วิทยาลัย ซึ่งเป็นการดักเด็กไว้แล้ว และอีกส่วนหนึ่งก็ปัญหาทะเลาะวิวาท ซึ่งพ่อ-แม่ ผู้ปกครองเป็นห่วงเรื่องความไม่ปลอดภัย แต่ที่สำคัญยังมีค่านิยมของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเรียนปริญญา รวมถึงเด็กสมัยใหม่ถูกเลี้ยงแบบสปอย พอมาเจองานก่อสร้างก่ออิฐถือปูนเข้าก็ไม่เอาแล้ว หลายคนพ่อแม่รับไม่ได้ที่ลูกต้องมาก่ออิฐ ผสมปูน  ซึ่งก็ต้องมีการทำความเข้าใจกันว่า เราจะสร้างคนไปคุมคนเราก็ต้องฝึกให้เขาทำเป็นก่อน จะได้รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด มิฉะนั้นจะไปคุมคนงานได้อย่างไร
 
   
“การเรียนของที่วิทยาลัยเด็กทุกคนต้องลงมือทำ ต้องเรียนทั้งทฤษฎีและปฏิบัติทุกแผนก เพราะฉะนั้นทุกคนที่จบออกไปทำงานได้จริงแน่นอน โดยเฉพาะระดับ ปวส.ที่มีระบบทวิภาคีสาขาช่างก่อสร้าง ช่างโยธา และช่างสถาปัตยกรรม โดยความร่วมมือกับสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ซึ่งมีเป็นร้อย ๆ บริษัทอยู่ในสมาคม ก็ได้มาทำเอ็มโอยูกับวิทยาลัย ให้ทุนการศึกษาโดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แล้วให้ไปเรียนและทำงานกับบริษัทสัปดาห์และ 4 วัน มาเรียนที่วิทยาลัย 2 วัน โดยมีเงินเดือนให้ในระหว่างเรียนเดือนละ 9,000บาท แต่มีเงื่อนไขว่าเมื่อเรียนจบแล้วต้องทำงานกับบริษัทในสมาคม  2 ปี โดยอย่างน้อยจะได้เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000บาท”อาจารย์วีระกล่าว
    
ขณะที่ วันวิสา หุสะ หรือ น้องตันหยง นักศึกษาชั้น ปวช.2 สาขาวิชาช่างโยธา บอกว่า ที่เลือกมาเรียนช่างก่อสร้างเพราะมองว่า งานก่อสร้างเป็นงานที่มีเรื่อย ๆ ไม่มีวันหยุด เป็นอาชีพที่ท้าทาย จบไปก็สามารถทำงานได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร อาจเปิดธุรกิจของตัวเองก็ได้ ที่สำคัญพ่อแม่สนับสนุนและช่วยเลือกให้ด้วย… อ่านต่อที่ : https://d.dailynews.co.th/education/664542/