วันนี้(14 มิ.ย.) นายรักสยาม นามานุภาพ นายกสมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค กล่าวว่า  ขณะนี้มีผู้ตีความพระธรรมวินัยให้สังคมเกิดความสับสนเกี่ยวกับพระรับเงินได้หรือไม่ ซึ่งความเห็นส่วนตัวตนยึดพระวินัย นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรคสิกขาบทที่ 18 ว่าตามชั้นพระบาลี คือ ชั้นพุทธพจน์ ทรงบัญญัติไว้ว่า(ชาตรูปํ วา รชตํ วา)  แปลว่า ทองคำ เงิน เครื่องประดับทองคำ เครื่องประดับเงิน แร่ทอง แร่เงิน รับหรือให้เขารับไว้เพื่อตนไม่ได้ ยกเว้นสงฆ์อนุญาตให้มีหน้าที่รับ สิกขาบทที่ 19  (รูปิเยน กยํ วา วิกยํ วา) แปลว่า รูปิยะ เงินเหรียญ ธนบัตร เช็ค บัตรเครดิต รับไว้ใช้สอยสิ่งจำเป็นได้ แต่อย่าไปทำธุรกิจซื้อขายเหมือนคฤหัสถ์ และสิกขาบทที่ 20 อย่าเอาของ ไปแลกเปลี่ยนของกับโยมหรือเดียรถีย์นอกศาสนา เช่น เอาจีวร ไปแลกผ้าโพกหัว ไม่ได้ ซึ่งเมื่อพระได้กระทำผิดดังกล่าวข้างตน จะมีโทษในระดับ ลหุกาบัติ หรืออาบัติเบา ซึ่งมีโทษน้อย ให้สารภาพและตั้งใจสำรวมระวังใหม่

“พระธรรมวินัยห้ามไม่ให้รับทองคำ หรือเครื่องประดับ ซึ่งเคยเกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล นางวิสาขา นำทองคำและเครื่องประดับเงิน มาทิ้งในวัด  พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติ  ห้ามพระภิกษุไปจับต้อง  พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้พระอานนท์เป็นผู้ไปถือไว้  เพราะพระไม่กล้าจับ เพื่อไม่ให้ทองคำ เครื่องประดับเงินกองอยู่ในวัด จึงเกิดสิกขาบทนี้ขึ้นมา เพื่อป้องกันพระอยากได้ ส่วนเรื่องธนบัตร รูปียะ ไม่ได้ห้ามรับ แต่ห้ามไม่ให้ไปทำธุรกิจเหมือนโยม หากรับนิตยภัต พอที่จะฉันข้าวจะเป็นอะไรไป ขอสำคัญห้ามนำขอตนเองไปแลกกับของโยมนั้นไม่ได้  ซึ่งการถวายเงินหรือปัจจัยแก่พระสงฆ์ของญาติโยม ต้องถวายแบบเหมาะสม ไม่ใช่นำเงินไปยัดใส่มือพระ  หรือพระที่มีเงินบริจาคมาก แล้วมานั่งนับเล่น ก็ไม่เหมาะสม ทั้งนี้ พระพุทธองค์ไม่ได้ห้ามรับธนบัตร หรือรูปียะ ก็จริง ในเรื่องวินัย คือข้อห้าม แต่เรื่องธรรมะ คือ ข้อปฏิบัติ โดยในข้อธรรมะพระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำว่า อย่าสั่งสมลาภสักการะ มีเงินแล้วไปออกรถหรู นี่คือลาภสักการะ แต่หากมีเงินแล้วนำไปสร้างประโยชน์สังคม พระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมยกย่อง เหมือน บูรพาจารย์หลายๆรูปที่ท่านได้ทำไว้แล้ว”นายกสมาคมเปรียญธรรม 9 ประโยค กล่าว

นายรักสยาม กล่าวอีกว่า  สำหรับในเรื่องของนิตยภัต คือ ค่าอาหาร ค่าเดินทางพระภิกษุ ซึ่งมีการถวายมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระมหากษัตริย์ จะทรงทำนุบำรุงพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนา เมื่อหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นิตยภัต นี้พระมหากษัตริย์ ไม่ได้ถวายเอง แต่มอบหมายให้รัฐบาลเป็นผู้ถวายแทน จึงอยากให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจด้วย