ซึ่ง 2 ท่านนี้เป็นนักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการระบุดังกล่าวมีขึ้นภายหลังเกิด “อุบัติเหตุบริเวณบันไดเลื่อน” ในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่สถานีรถไฟฟ้าสถานีหนึ่ง โดยอุบัติเหตุนี้มีผู้บาดเจ็บ 27 ราย บางรายเกิดแผลที่ต้องเย็บถึง 30 เข็ม…

“บันไดเลื่อน” ในไทยมีใช้มานานแล้ว…

แต่การมี-การใช้ “ก็จะต้องระมัดระวัง!!”

ทั้งนี้ กับ “คำเตือน-คำแนะนำ” เกี่ยวกับ “บันไดเลื่อน” นั้น ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูล-มีแง่มุมโดย 2 นักวิชาการดังที่ระบุข้างต้นมาสะท้อนในวันนี้ โดยมีการระบุถึง “อุบัติเหตุ” ที่เคยเกิดในต่างประเทศ เช่น… ที่สหรัฐอเมริกา เคยมีหญิงรายหนึ่งเมาแล้วเสียหลักตกจากบันไดเลื่อนลงพื้นเสียชีวิต, ที่มาเลเซีย เคยมีเด็กที่ขี่คอพ่อแล้วเสียหลักตกบันไดเลื่อนเสียชีวิต, ที่ฮ่องกง เคยเกิดเหตุบันไดเลื่อนผิดปกติหมุนย้อนทิศด้วยความเร็วทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน

ส่วนที่ไทยเรา นอกจากกรณีเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่เกิดเหตุเพราะมีคนจำนวนมากขึ้นบันไดเลื่อน ในอดีตก็เคยเกิดหลายเหตุ เช่น ย่านรังสิต เด็กบาดเจ็บสาหัสเพราะชะโงกศีรษะออกนอกตัวบันไดเลื่อน, ย่านปทุมวัน มีคนถูกดูดรองเท้าเข้าไปในบันไดเลื่อนที่ชำรุด, ย่านวงศ์สว่าง ย่านพญาไท แผ่นบันไดเลื่อนหลุดเพราะมีคนทำเหรียญหลุดเข้าไปในสายพาน เป็นต้น

“อุบัติเหตุที่ยึดโยงบันไดเลื่อน” ในไทย ดังที่ระบุมานี้ ส่วนใหญ่เกิดตามศูนย์การค้า และบางกรณีเกิดที่สถานีรถไฟฟ้า โดยสาเหตุส่วนใหญ่ “เกิดเพราะคนใช้บันไดเลื่อน” แต่บางกรณีก็ “เกิดเพราะบันไดเลื่อนชำรุด”

กล่าวสำหรับในไทย แม้ทั้งเหตุในอดีต รวมถึงที่เพิ่งเกิดเมื่อเร็ว ๆ นี้ จะไม่ถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต แต่กระนั้น ทุกฝ่ายก็ต้องตระหนักในการระมัดระวังป้องกันภัย ซึ่งกับฝ่ายผู้ใช้บันไดเลื่อน นักวิชาการวิศวะ ม.มหิดล แนะนำ “ข้อควรระวังในการใช้บันไดเลื่อน” ไว้ดังนี้คือ… ต้องมีสติ ไม่มัวแต่ใช้มือถือ ต้องมีสมาธิขณะใช้งานบันไดเลื่อน ไม่ชะโงกมองนอกตัวบันไดเลื่อน ผูกเชือกรองเท้าให้แน่น วางเท้าอยู่ในกรอบสีเหลืองเสมอ ยืนให้มั่นและจับราวบันไดเลื่อนไว้ ไม่นั่งบนบันไดเลื่อนหรือพิงราว ไม่วิ่งหรือเดินย้อนทางบันไดเลื่อน หากสวมใส่เสื้อผ้าที่ยาวรุ่มร่าม หรือหิ้วของพะรุงพะรัง ควรงดใช้บันไดเลื่อน ไม่ใช้บันไดเลื่อนขนของ ไม่ปล่อยให้เด็กใช้บันไดเลื่อนตามลำพัง ถ้ามีสัตว์เลี้ยงด้วยขณะใช้บันไดเลื่อนควรอุ้มไว้

ขณะที่ใช้บันไดเลื่อนหากมีสิ่งผิดปกติ มีเสียงเครื่องที่ฟังดูผิดปกติ ถ้าเป็นไปได้ให้กดปุ่มฉุกเฉินหยุดการทำงาน แล้วรีบออกจากบันไดเลื่อน หากพบว่าบันไดเลื่อนที่จะใช้มีร่องรอยการชำรุด มีคราบน้ำมัน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

“ผู้ใช้” ก็จะ “ต้องระมัดระวังป้องกันภัย”

ยิ่ง “เจ้าของ” ก็ “ยิ่งต้องป้องกันเกิดภัย”

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ศิรดล ศิริธร ระบุถึงกรณี “บันไดเลื่อน” ตามสถานีรถไฟฟ้าไว้ว่า… หลายประเทศในยุโรปจะออกแบบโดยตั้งสถานีไว้ห่างแหล่งกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเดินทางจำนวนมาก ๆ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น สนามกีฬา โรงละคร สถานที่จัดคอนเสิร์ต ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ราว 1-2 กม. เพื่อให้ฝูงชนขนาดใหญ่กระจายความหนาแน่นก่อนจะถึงสถานี เพื่อให้สถานีรองรับได้โดยไม่มีปัญหา รวมถึงกับ “บันไดเลื่อน”  ซึ่งรถไฟฟ้าในไทยสายต่าง ๆ ก็ควรตระหนักจุดนี้

“ยังมี มาตรการบริหารจัดการเพื่อความปลอดภัย อื่น ๆ ที่ทำได้ เช่น การจัดกิจกรรมหลังจบคอนเสิร์ตหรือแมตช์แข่งขันกีฬา ซึ่งจะดึงคนส่วนหนึ่งให้เข้าสถานีรถไฟฟ้าช้าลง การจัดระเบียบหรือสร้างแถวคอยก่อนเข้าสู่สถานี ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเหตุไม่พึงประสงค์ได้” …นักวิชาการระบุ กรณีสถานีตั้งอยู่ใกล้แหล่งกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น

ด้าน ดร.สุพรรณ ทิพย์ทิพากร ระบุไว้ว่า…ในไทยก็มีข้อกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ พ.ศ. 2565 ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งพัฒนามาจากมาตรฐานยุโรป โดยมีเซ็นเซอร์ 15 ตำแหน่ง และปุ่มกดหยุดฉุกเฉินด้วยมือ แต่สำหรับ บันไดเลื่อนสาธารณะที่ใช้ขนส่งมวลชนนั้นควรมีระบบความปลอดภัยที่มากกว่าบันไดเลื่อนที่ใช้งานในสถานที่ทั่วไป เพราะมีความแออัดและแต่ละวันมีชั่วโมงใช้งานยาวนาน

“ควรมีเจ้าหน้าที่คอยสังเกตช่วงที่มีคนใช้งานมาก ๆ ถ้าจะเกินความปลอดภัยต้องมีการจัดการกั้นไม่ให้คนขึ้นเพิ่มจากด้านล่าง จัดคิวให้ทยอยขึ้น-ลง พัฒนาเสริมระบบความปลอดภัย มีอุปกรณ์ตรวจจับอัตโนมัติให้บันไดเลื่อนหยุดการทำงานเมื่อมีคนหยุดยืนออกันที่ด้านบนเพื่อไม่ให้ดันคนขึ้นไปเพิ่ม และอาจเสริมด้วยเทคโนโลยี IoT เพื่อแจ้งเตือนเหตุไปยังศูนย์ควบคุมแบบ Real-time และใช้ AI เพื่อจำแนกอุบัติเหตุ อย่างการหกล้ม (Real-time Fall Detection) ของคนบนบันไดเลื่อน เพื่อให้สั่งการหยุดการทำงานของบันไดเลื่อนได้ทันท่วงที” …เป็นคำแนะนำจากทางนักวิชาการ …ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” เชื่อว่าในไทยหลาย ๆ ที่ก็คงมีการทำอยู่ระดับหนึ่ง? หรืออย่างน้อยหลังเกิดกรณีเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็เริ่มทำบ้างแล้ว?

“บันไดเลื่อน” ไม่ไฮเทคมากก็ไม่เป็นไร

“สำคัญ” คือ “ทุกฝ่ายใส่ใจป้องกันภัย”

หวังว่า…“ในไทยไม่มีเหตุร้ายถึงชีวิต?”.