หลังจากไทยถูก เชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ B117) เล่นงานมาตั้งแต่เดือนเม.ย. จาก ’คลัสเตอร์ทองหล่อ“ ถัดมายังตรวจพบ สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย B.1.617.2) จากแคมป์คนงานก่อสร้างย่านหลักสี่ ปัจจุบันแพร่ระบาดมากขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังพบ สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้ B.1.351) เริ่มระบาดอยู่ในพื้นที่ 4 จว.ชายแดนภาคใต้
น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้น เมื่อยอดทั้งผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในประเทศไทยยังไม่มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด ภายในเดือนมิ.ย.มียอดผู้เสียชีวิตสูงถึง 51 ราย ถึง 2 ครั้ง ยอดติดเชื้อรายวันก็อยู่ระดับ 3,000-4,000 ราย ติดต่อกันหลายวัน (ยอด ณ วันที่ 27 มิ.ย. ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,995 ราย เสียชีวิต 42 ราย รวมยอดติดเชื้อสะสม 215,584 ราย ยอดผู้เสียชีวิต 1,912 ราย)
ยกระดับคุมเข้มพื้นที่กลุ่มเสี่ยง “10 จว.”
อย่างไรก็ตามช่วงเวลาประมาณ ตี 1 วันที่ 27 มิ.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ซึ่งลงนาม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญคือ เพื่อใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น เพื่อมุ่งชะลอและสกัดกั้นการระบาดของเชื้ออย่างเร่งด่วนในพื้นที่กลุ่มเสี่ยง คือ กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล (จ.นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครปฐม และสมุทรสาคร) รวมถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จ.ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา) ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.
โดยมีมาตรการสำคัญทั้งควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 ข้อ อาทิ ปิดแคมป์คนงานทุกประเภท ห้ามเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราว 30 วัน, การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านอาหารทั้งหมดใน กทม.และปริมณฑลให้เปิดดำเนินการเฉพาะการนำกลับไปบริโภคเท่านั้น, ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ให้เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. โดยให้งดการให้บริการเพิ่มเติมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนน้ำ พื้นที่นั่งรับประทานในศูนย์อาหาร, โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมหรือสถานที่จัดนิทรรศการเปิดได้ตามเวลาปกติ แต่ให้งดกิจกรรมจัดการประชุม สัมมนา และจัดเลี้ยง, ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนรวมกันมากกว่า 20 คน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงาน ฯลฯ
เรียกว่าสถานการณ์ช่วงนี้ในพื้นที่ 10 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้ามาสู่ช่วงวิกฤติเริ่มยกระดับมาตรการคุมเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญตอนนี้ตรวจพบเชื้อทั้งหมด 3 สายพันธุ์ด้วยกันคือ ทั้งอัลฟ่า เดลต้า และเบต้า เหมือนกำลังกลายเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ในเมื่อวัคซีนก็ยังฉีดเพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง แต่เจ้าเชื้อกลายพันธุ์กำลังแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง ทีมข่าว 1/4 Special Report พูดคุยกับ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความเห็นถึงข้อมูล เชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ว่า เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย เนื่องจากไวรัสที่ระบาดในปีที่แล้วกับปีนี้มีโครงสร้างที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยสามารถติดได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีอยู่อาจลดลง ขณะเดียวกันในแต่ละประเทศ มีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกันไป เช่น สหรัฐอเมริกา มีทั้งสายพันธุ์อังกฤษ อินเดีย, บราซิล และสายพันธุ์แคลิฟอร์เนีย
ตอนนี้องค์การอนามัยโลก ได้เปลี่ยนแปลงชื่อเรียกไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่เดิมเรียกตามชื่อประเทศที่พบและตรวจเจอเป็นครั้งแรก ซึ่งช่วงหลังอาจสร้างความไม่สบายใจให้กับประเทศนั้น ๆ จึงเรียกชื่อใหม่ ดังนี้ 1.อัลฟ่า(สายพันธุ์อังกฤษ) 2.เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) 3.เบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) และ4.แกมม่า (สายพันธุ์บราซิล)
จับตา “สายพันธุ์เดลต้า” เริ่มขยายวง
ผศ.นพ.โอภาส มองด้วยว่า ภาพรวมการระบาดทั่วโลกตอนนี้ พบโควิด สายพันธุ์อัลฟ่า มากที่สุด เนื่องจากการระบาดเป็นผลมาจากการเดินทางของมนุษย์ ที่นำเชื้อไปแพร่กระจายในพื้นที่ปลายทางเช่นเดียวกับไทยที่เชื้อส่วนใหญ่ต้นทางมาจากต่างประเทศ เพราะการระบาดในช่วงแรก ต้นปี 63 เป็นสายพันธุ์จากจีน ก่อนจะกลายมาเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า ที่มีการแพร่กระจายมาจากสถานบันเทิง ล่าสุดสายพันธุ์ที่กำลังเริ่มแพร่กระจายได้เร็วและติดกันมาก คือ สายพันธุ์เดลต้า จากสถิติผู้ป่วยโควิดของ รพ.จุฬา เดือนพฤษภาคม คนไข้ส่วนใหญ่ติดเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่า แต่ในเดือนนี้ (มิถุนายน) คนไข้ที่มารักษาส่วนใหญ่ ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งหวั่นเกรงว่าจะยกระดับเป็นการระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงจากสายพันธุ์เดลต้าที่จะเข้ามาแพร่กระจายแทนสายพันธุ์เดิม
“ในการสุ่มตรวจได้นำเชื้อไวรัสจากคนไข้มาถอดสารพันธุกรรม ตอนนี้เริ่มมีคนไข้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้า กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ โดยทำการสุ่มตรวจสัปดาห์ละ 20 ราย โดยการตรวจจะคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มาจากหลากหลายคลัสเตอร์ แต่จากสถิตินี้บ่งบอกได้ว่าสายพันธุ์เดลต้า สามารถแพร่กระจายเชื้อได้รวดเร็วมาก”
ตอนนี้ทำให้หลายโรงพยาบาลมีคนไข้หนักค่อนข้างมาก โดยเฉพาะห้องผู้ป่วยไอซียู เริ่มเต็มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบางที่ไม่มีเตียงที่จะรับคนไข้ การรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อเดลต้าไม่ต่างจากเดิมมาก เนื่องจากข้อจำกัดในการรักษาที่ตอนนี้ยาที่ใช้ในการรักษาไม่ได้มีเยอะมาก ซึ่งผู้ป่วยในทุกสายพันธุ์ต้องใช้ยาเหมือนกัน การแพร่ระบาดของเชื้อเดลต้าในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถือได้ว่าเป็นการระบาดในระลอกที่ 4 ก็พอได้ จึงยังเป็นงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องต่อสู้กับภาวะโควิดมากว่า 2 ปี ที่ผ่านมาเราทำงานแบบตั้งรับมาตลอด เพราะภาวะการติดเชื้อของประชากรส่วนใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอก ทั้งการเคลื่อนย้ายของคนและการควบคุมป้องกัน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถควบคุมปัจจัยเหล่านี้ได้
ตอนนี้ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข มีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยหนักที่มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลค่อนข้างนาน เฉลี่ย 3–4 สัปดาห์ แม้หายป่วยจากโควิดแล้ว แต่ปอดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทำให้คนไข้ต้องนอนพักฟื้นในห้องไอซียูต่อ สิ่งนี้ทำให้เตียงที่รองรับผู้ป่วยที่เข้ามารักษาใหม่ไม่ว่าง
โควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เริ่มแพร่ระบาดในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง การจะควบคุมได้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ เช่น ในอังกฤษเมื่อเกิดการแพร่ระบาดมาก ๆ มีการล็อกดาวน์เพื่อลดการเดินทางและการทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะคือวิธีที่ง่ายและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อได้ดีที่สุด ตอนนี้หน่วยงานรัฐต้องมองถึงความสมดุลในการ “ควบคุมการระบาด” และ “ระบบเศรษฐกิจ” ไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ตอนนี้ก็เป็นเรื่องยากที่จะต้องสร้างความสมดุลให้กับคนทั้ง สองฝ่าย เพราะภาคธุรกิจก็อยากจะให้เปิด แต่ฝ่ายทางการแพทย์ก็อยากให้ล็อกดาวน์พื้นที่เสี่ยงเพื่อลดสถิติการติดเชื้อ
ปัจจัยสำคัญสกัดเคลื่อนย้ายกลุ่มเสี่ยง
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก รพ.จุฬาลงกรณ์ มองถึงปัญหาว่า ที่ผ่านมาการแพร่กระจายเชื้อ ในลักษณะการเคลื่อนย้ายของบุคคล ไทยยังป้องกันไม่สำเร็จ ตัวอย่างจากการแพร่กระจายของ สายพันธุ์เบต้า ที่เริ่มแพร่ระบาดในพื้นที่ 4 จว.ทางภาคใต้ เชื้อหลุดเข้ามาจากมาเลเซีย ดังนั้นการควบคุม ไม่ให้แพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่น จึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่การควบคุมก็มีปัจจัยในด้านวัฒนธรรมความเป็นอยู่ท้องถิ่น ที่หน่วยงานในพื้นที่ต้องทำให้มาตรการควบคุมมีความสอดคล้องกันด้วย
ดังนั้นการควบคุมและป้องกันการเคลื่ออนย้ายกลุ่มเสี่ยงที่เน้นย้ำกันมาตลอดยังคงสำคัญ แม้ฉีดวัคซีนแล้วจะช่วยให้เราไม่ติดเชื้อรุนแรง แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้ออย่างไม่แสดงอาการ เช่น สหรัฐอเมริกา แม้ฉีดวัคซีนไปแล้วก็ยังมีประชากรที่ติดเพิ่ม.