เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ประกาศล้างหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้กับนักศึกษาอเมริกันหลายล้านคน ที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.5 ล้านบาท) คนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 362,000 บาท) เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้น เช่น ค่าเล่าเรียน และค่าที่พัก รวมถึงยกหนี้ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 724,000 บาท) ให้กับนักศึกษาในกองทุน “เพลล์ แกรนต์ส” ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงินมากที่สุด

ทั้งนี้ การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยถูกมองว่า เป็นเส้นทางสู่รายได้ที่ร่ำรวยมานานแล้ว แต่ด้วยค่าเล่าเรียนที่พุ่งสูง และหนี้การศึกษาที่เพิ่มขึ้นจนคนหนุ่มสาวไม่สามารถชำระได้ ทำให้บางคนสงสัยว่า มันคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปหรือไม่ นายมาร์แชล สไตน์บัม ผู้สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยยูทาห์ และศึกษาการกู้ยืมเพื่อการศึกษา กล่าวว่า ภูเขาหนี้สินดังกล่าวคือหลักฐานที่บ่งบอกว่า โมเดลธุรกิจเพื่อการศึกษาในปัจจุบันประสบความล้มเหลว

ABC News

ปัจจุบัน หนี้การศึกษา คือประเภทหนี้ครัวเรือนที่ใหญ่เป็นอันดับสอง รองจากสินเชื่อจำนอง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับหนี้สิน ในภาพรวมคือการลดจำนวนเงินที่ผู้คนสามารถใช้ไปกับสินค้าและบริการ และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศลดลง ส่วนอีกปัญหาหนึ่งคือ มันสามารถทำลายคะแนนเครดิตของบุคคลได้ นั่นหมายความว่า ความสามารถที่จะยืมและใช้เงินในอนาคตของพวกเขาจะถูกขัดขวางเช่นกัน

การวิเคราะห์หนี้เพื่อการศึกษาและความไม่เท่าเทียมเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่มันกลับชัดเจนว่าหนี้สินไม่ได้แบ่งกันอย่างเท่ากัน ในกลุ่มเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ โดยในการออกแถลงการณ์ก่อนหน้าการประกาศของไบเดน นายวิสดอม โคล ผู้อำนวยการวิทยาลัยและเยาวชนของสมาคมเพื่อความก้าวหน้าของคนผิวสีแห่งชาติ กล่าวว่า การปลดหนี้ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐนั้น “ไม่เพียงพอ”

แม้มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจะประมาณการว่า ภายใต้แผนของไบเดน หนี้สินระหว่าง 69-73% ที่ถูกล้างจะมาจากครัวเรือนที่อยู่ในอันดับ 60% ของการกระจายรายได้ แต่ สไตน์บัม กล่าวว่า การอ้างเหตุผลเหล่านั้นไม่สามารถทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการศึกษา, หนี้ และรายได้ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาได้

สไตน์บัม กล่าวเสริมว่า คนรุ่นก่อน ๆ ที่อยู่ในชนชั้นแรงงาน เคยละเลยการศึกษาในระดับอุดมศึกษา แต่ในตอนนี้ พวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อรับประกาศนียบัตร ก่อนที่จะนำไปหางานทำ ซึ่งสิ่งนี้หมายความว่า การศึกษาไม่ใช่สิ่งฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม สไตน์บัม ผู้สนับสนุนการปลดหนี้เพื่อการศึกษา กล่าวว่า เขารู้สึกสับสนเกี่ยวกับแผนของไบเดน เพราะมันล้มเหลวที่จะแก้ไขสาเหตุต้นตอของปัญหา นั่นคือค่าเล่าเรียนที่สูง ซึ่งเป็นภาระหลักของตัวบุคคล และเมื่อนักศึกษาไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ รัฐบาลจึงเข้ามาช่วยเหลือ และยกหนี้การศึกษาให้กับพวกเขา.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES