ประเทศไทยสมบูรณ์ด้วยมรดกวัฒนธรรมหลากหลายด้าน การประยุกต์สร้างสรรค์ให้มรดกวัฒนธรรมของไทยได้รับความนิยม ครองใจ แนวทางหนึ่งคือการศึกษาค้นคว้าวิจัย…

“พลังวัฒนธรรมในยุคสังคมดิจิทัล” การประชุมวิชาการทางวัฒนธรรมแห่งชาติ วิจัยวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นที่หอประชุมเล็กศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา ได้เผยแพร่ข้อมูลความรู้จากผลการศึกษาวิจัยทางวัฒนธรรมที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นำเสนอสาระความรู้ประเด็นที่น่าสนใจของสังคม นำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้การศึกษาวิจัยระหว่างนักวิจัย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ ฯลฯ เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์และพัฒนาต่อยอด

การนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน นอกจากการอภิปรายภายใต้เรื่อง พลังโภชนศิลป์ พลังสังคีตศิลป์ พลังนาฏศิลป์ ยังมี พลังหัตถศิลป์ โดยส่วนนี้เป็นหนึ่งในผลงานวิจัยเสนอเรื่อง “ว่าวควาย” สายลมสร้างสรรค์พลังหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมเศรษฐกิจฐานราก พาสัมผัสเอกลักษณ์ว่าวภาคใต้ สัมผัสพลังแห่งหัตถศิลป์ พลังวัฒนธรรมซึ่งนำมาประยุกต์สร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ส่งต่อเศรษฐกิจของชุมชน

ดร.เจตน์สฤษฎิ์ สังขพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ หัวหน้าวิจัยและ ผศ.ดร.เก็ตถวา บุญปราการ นักวิจัยและผู้ประสานงานโครงการวิจัย คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลเล่างานวิจัยว่า ว่าวควาย ถือเป็นเอกลักษณ์ของว่าวภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดสตูล โดยว่าวมีเรื่องที่น่าศึกษาหลายมิติ โดยการวิจัยที่ดำเนินการร่วมกันกับทีมวิจัยครั้งนี้คือ การอนุรักษ์และการเพิ่มมูลค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำว่าวควายอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนท้องถิ่นจังหวัดสตูล 

ดร.เจตน์สฤษฎิ์ และ ผศ.ดร.เก็ตถวา

“ว่าวควายของจังหวัดสตูล เป็นงานหัตถศิลป์ที่มีเอกลักษณ์ มีแง่มุมทางวัฒนธรรม เป็นอัตลักษณ์จุดเด่นของจังหวัด จากการสืบค้นข้อมูลทั้งในด้านความเป็นมาของว่าว การสืบสานสืบทอดว่าวควาย ฯลฯ พบผู้ทำว่าวลดน้อยลงโดยมีโอกาสจะเลือนหายไป จึงวิจัยศึกษาทำให้ว่าวคืนสู่เยาวชนโดยร่วมสืบสานภูมิปัญญาการทำว่าว เห็นถึงคุณค่าความสำคัญ รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจ สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน โดยชุมชนสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ฯลฯ”

หัวหน้าทีมวิจัย ดร.เจตน์สฤษฎิ์ อธิบายเพิ่มอีกว่า ว่าวควายมีลักษณะคล้ายว่าววงเดือน ว่าวจุฬาซึ่งผสานรวมอยู่ในว่าว แต่ที่มีความพิเศษ มีสัญลักษณ์ที่เห็นได้เด่นชัดคือ หัวควาย เขาควายและมีลักษณะเด่นที่เสียง โดยเมื่อว่าวลอยเล่นลมขึ้นบนท้องฟ้าจะมีเสียง โดยเสียงที่เกิดขึ้นเกิดจากแอกที่ติดบนตัวว่าวเมื่อปะทะลม

“ว่าวควายยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการทำนา โดยชาวนาใช้ควายไถ่นา หลังฤดูเก็บเกี่ยวจึงอยากตอบแทนคุณของควาย จึงคิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ทำว่าวเป็นรูปควายกินหญ้าให้เด็กได้เล่น เมื่อว่าวลอยขึ้นไปบนฟ้าเป็นเหมือนการตอบแทนบุญคุณ ทั้งมีเรื่องเล่าถึงการเสี่ยงทายถึงความอุดมสมบูรณ์ ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล หากว่าวลอยอยู่ได้นาน ฯลฯ โดยส่วนหนึ่งนี้เป็นเรื่องเล่าขาน เล่าเรื่องราวของว่าวสืบต่อกันมา

มองต่อถึงความนิยมเล่นว่าว อาจารย์ผู้วิจัยทั้งสองท่านบอกเล่าเพิ่มอีกว่า ว่าวควายเป็นที่นิยมมีเล่นกันในหลายพื้นที่ แต่ถ้ากล่าวถึงว่าวควายจะนึกถึงที่จังหวัดสตูล โดยช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนจะเป็นฤดูแห่งลมว่าว ลมจะพัดอย่างสม่ำเสมอ แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม จะเป็นลมที่พัดมาจากทะเลอันดามัน จะไม่สม่ำเสมอซึ่งแม้จะมีลมเหมือนกัน แต่เมื่อมีความไม่สม่ำเสมอว่าวจะไม่สามารถลอยอยู่บนท้องฟ้าได้

“คนเล่นว่าว คนทำว่าวจะใจจดใจจ่อในช่วงเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ถึงเมษายน ดังที่กล่าว การเล่นว่าวไม่ได้เล่นได้ตลอดปี การเล่นว่าวจะมีความสัมพันธ์กับทิศทางของลม ซึ่งชาวบ้านจะมีภูมิปัญญารู้ว่าลมว่าวจะมาในช่วงใด อย่างที่กล่าวจะมีความต่างกันอยู่โดยสองเดือนแรก ลมมาก็จริงแต่จะพัดไม่สม่ำเสมอ เหมือนลมหวนกลับไปกลับมา ว่าวก็จะควงตกลงมา การเล่นจึงเป็นที่นิยมในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ และก็มีชาวบ้านให้ข้อมูลอีกเช่นกันว่าเล่นต่อเนื่องไปถึงเดือนเมษายนเช่นกัน”

ด้วยที่ว่าวควายเป็นว่าวเอกลักษณ์ของจังหวัดสตูล ช่วงเดือนกุมภาพันธ์จึงเป็นเดือนที่ดีในการเล่นว่าว มีประเพณีการแข่งว่าว มีงานมหกรรมว่าวนานาชาติโดยจะมีว่าวจากต่างประเทศมามากมาย มีการแข่งขันและมีการประกวดว่าว ฯลฯ ทั้งนี้นอกจากว่าวควาย  ว่าวของภาคใต้ที่เป็นที่รู้จักยังมี ว่าวบุหลัน ว่าวเบอร์อามัส ฯลฯ เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่น อาจารย์นักวิจัยให้มุมมองอีกว่า การเล่นว่าวนอกจากเพื่อการสันทนาการ เพื่อความสนุกสนาน ว่าวยังสร้างการมีส่วนร่วม อย่างเช่นในการประกวดว่าวสร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ออกแบบตกแต่ง ประดิษฐ์ว่าวได้หลากหลายรูปแบบโดยไม่จำกัด

“ว่าวควายจะตกแต่งวาดระบายสี และติดกระดาษ โดยวิธีการแบบดั้งเดิม จะตัดกระดาษสีเป็นรูปดอกไม้ รูปต่าง ๆ แต่ระยะหลังใช้เครื่องมือตอกลายรูปร่างเหมือนดอกไม้หรือลวดลายต่าง ๆ นำมาติดบนตัวว่าว” จากบทความ “ว่าวควาย” สายลมสร้างสรรค์พลังหัตถศิลป์จากภูมิปัญญาสู่นวัตกรรมเศรษฐกิจฐานรากที่ศึกษายังให้ข้อมูลการสร้างสรรค์ว่าว เป็นนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น สวยงาม ดึงดูดผู้คนให้หันมาให้ความสำคัญ โดยสามารถนำไปประดับบ้าน หรือนำไปเป็นของที่ระลึก สำหรับให้แขกบ้านแขกเมือง เป็นการเกิดมูลค่าเพิ่ม โดยทำให้เกิดนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์คือ การสร้างสรรค์ลวดลายบนตัวว่าว โดยได้เผยแพร่ความรู้ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับเยาวชนในท้องถิ่นได้ทดลองสร้างสรรค์ ทั้งต่อยอดนำมาเพนท์เสื้อ นำไปใส่กรอบรูป ฯลฯ สร้างมูลค่าเพิ่ม

ส่วนหนึ่งจากบทความอธิบายวิธีการทำว่าว โดยวัสดุหลักได้แก่ ไม้ กระดาษ และเชือก โดยการเลือกไม้ไผ่ทำว่าวจะต้องเป็นไม้ไผ่สีสุก ปลูกอยู่ใกล้ริมคลองและเป็นดินเหนียวโดยเชื่อกันว่าไม้ไผ่จะเหนียว และเหมาะสมที่จะนำมาทำเป็นโครงว่าว ตัดไม้ให้มีขนาดความยาวกว่าโครงที่ทำเล็กน้อย จากนั้นนำมาผ่าและดัดเป็นซี่เพื่อเตรียมไว้เหลาและผูกโครงว่าวในขั้นต่อไป

ไม้ที่ตัดแต่ละอันมีขนาดสั้น ยาว เล็ก หรือใหญ่ต่างกันตามส่วนและขนาดของว่าว การเหลาไม้ไผ่ ทาโครงว่าวจะต้องใช้ความประณีต ต้องให้ส่วนผิวของไม้ไผ่ติดอยู่ด้วยเสมอ เพราะผิวไม้ไผ่จะทำให้เกิดสปริง มีความเหนียวไม่หักง่ายและมีวิธีการเหลา แต่ละขั้นตอนจึงมีรายละเอียด ทั้งนี้ ดร.เจตน์สฤษฎิ์ อธิบายภาพรวมอีกว่า การประดิษฐ์ว่าวควายมีความน่าสนใจ ว่าวจะมีส่วนประกอบต่าง ๆ มีส่วนหัว หู เขา ลำตัว ฯลฯ การเหลาไม้ การผูกเชือก มีความสำคัญ อีกทั้งส่วนหางจะเป็นตัวคานน้ำหนักเวลาที่ว่าวลอยลม แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ เมื่อมองเห็นจะรู้ได้ทันทีว่าเป็นว่าวควาย 

ส่วนสีสันการตกแต่งจากที่กล่าวจะสร้างสรรค์ได้จำกัด แต่ที่เห็น มีการติดกระดาษตกแต่งและเพนท์สี โดยแบบที่ติดกระดาษจะใช้กระดาษแก้ว กระดาษสีตกแต่ง ส่วนการติดกระดาษกับโครงว่าวต้องใช้ความพิถีพิถัน อีกทั้งเป็นกระดาษที่ต้องมีคุณสมบัติเหนี่ยวไม่รั่วลม นอกจากการตกแต่ง การตั้งโครง ตั้งฐานว่าวยังต้องให้ความสำคัญ โดยต้องมีความสมดุล หากขาดสมดุลว่าวจะไม่ขึ้น แต่หากขึ้นฟ้าแล้วเอียงก็สามารถปรับทิศทางได้ หรือแม้แต่ส่วนแอกที่ทำให้เกิดเสียง ส่วนนี้จะใช้ไม้ไผ่ทำคล้ายคันธนูผูกติดไว้ เมื่อปะทะกับลมจะเกิดเสียง เป็นภูมิปัญญาการประดิษฐ์ที่มากด้วยเรื่องที่น่าศึกษา 

ถ่ายทอดภูมิปัญญา บอกเล่าวิถีชีวิต วัฒนธรรม ส่งต่อการศึกษาสร้างพลังวัฒนธรรม พลังหัตถศิลป์เชื่อมโยงต่อไปอีกหลากหลายมิติ. 

พงษ์พรรณ บุญเลิศ