ในที่สุด!! ฝันก็เป็นจริงเข้าให้แล้ว สำหรับบรรดาผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ หลังคณะกรรมการไตรภาคี เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เฉลี่ยอยู่ที่ 337 บาท หรือปรับขึ้นมาประมาณ 5.02% มีผลวันที่ 1 ต.ค.นี้ เป็นต้นไป

กระทรวงแรงงานออกมายืนยันชัดเจนว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบนี้ ได้พิจารณาบนพื้นฐานของความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ

แม้ฝากฝั่งของผู้ประกอบการเองได้ต่อรองให้ขึ้นเพียงแค่ 3-4% เพราะถือเป็นต้นทุนที่สำคัญ แม้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) จะเพิ่มขึ้นไปแล้วถึง 5.89% ก็ตาม

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ แบ่งเป็น 9 อัตรา แบ่งแยกกันไปตามแต่ละจังหวัด โดย ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต ได้ปรับขึ้นสูงที่สุดเป็นวันละ 354 บาท จากเดิมที่อยู่ในระดับ 335-336 บาท

ขั้นตอนจากนี้… ก็ต้องไปรอดูว่า มาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบให้กับบรรดาผู้ประกอบการจะออกมาเช่นไร เพราะต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้ ผู้ประกอบการก็แบกรับภาระไม่น้อยไปกว่าบรรดาลูกจ้างเช่นกัน

จากตัวเลขผลกระทบของการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุด พบว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับอัตรา 1% จะมีผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.31%

และส่งผลกระทบไปยังต้นทุนของภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยขนาด 0.27% นอกจากนั้น ยังมีผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นด้วยตัวเลข 0.18%

ดังนั้น เมื่อต้นทุนเพิ่มเข้ามาอีก 1 ระลอก นอกเหนือไปจากต้นทุนในเรื่องของราคาวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ก็หนีไม่พ้นที่ราคาสินค้าย่อมต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีหลายสินค้า ได้ปรับขึ้นราคากันไปบ้างแล้ว อย่างล่าสุด ก็คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อย่าง มาม่า ไวไว ยำยำ ที่กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาไฟเขียวให้ปรับขึ้นได้ซองละ 1 บาท จาก 6 บาท เป็น 7 บาท แม้ผู้ประกอบการได้ขอดันขึ้นเป็น 8 บาทก็ตาม

ขณะเดียวกันที่ต้องจับตาดูต่อไป คงหนีไม่พ้นบรรดาพวกนมทั้งหลาย หลัง ครม.ได้อนุมัติตามมิลค์บอร์ด ที่ให้เพิ่มราคากลางรับซื้อน้ำนมดิบหน้าโรงงานอีก กก.ละ 1.50 บาท หลังไม่ได้ปรับราคามากว่า 8 ปี เพื่อช่วยผู้เลี้ยงโคนมที่มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

ก็…เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อต้นทางขึ้นราคา ปลายทางก็ต้องขึ้นราคา โดยกรณีนี้มีการคาดหมายกันว่า บรรดาผู้ประกอบการจะยื่นเรื่องโครงสร้างต้นทุนใหม่ไปให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาภายในต้นเดือน ก.ย.นี้ ส่วน!! แต่ละรายจะขอขึ้นอีกกล่องละเท่าใด ขวดละเท่าใด ขึ้นอยู่กับต้นทุนของแต่ละบริษัท

การขึ้นราคาสินค้าในหมวดของสินค้าอุปโภค บริโภค ของกิน ของใช้ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวัน อาจจะไม่เท่าไหร่!! เพราะต่างคนต่างรู้ดีอยู่แล้วว่า ต้นทุนสินค้าสารพัดแพงขึ้นมาก

หากยังกดราคาสินค้าไม่ให้ขึ้นตามต้นทุน… สุดท้าย!! สินค้าอาจหายไปจากตลาดก็เป็นไปได้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่กระทรวงพาณิชย์มากใช้คำพูด “วิน-วิน” ให้ติดหู

แต่!! ในเรื่องของอาหารสำเร็จรูป อาหารจานด่วน อาหารจานเดียว ข้าวแกง อาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว และอีกสารพัด ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

อย่าลืมว่า ที่ผ่านมา ได้ดาหน้าขึ้นราคาตามต้นทุนที่แพงขึ้น แบบชนิดที่เรียกว่า 100 บาทต่อมื้อ แทบเอาไม่อยู่ เมื่อค่าแรงมาปรับเพิ่มขึ้นไปอีก เชื่อเถอะ ราคาอาหารเหล่านี้ ต้องปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วยแน่นอน

ถือเป็นสัจธรรม เพราะทุกครั้งที่ค่าแรงปรับ อาหารเหล่านี้ย่อมปรับเพิ่มขึ้นไปด้วยตามค่าแรง แต่ที่น่าสนใจ! อยู่ที่ว่า ถ้าพ่อค้าแม่ค้า ฉวยโอกาสมากไป ทฤษฎีตามกลไกตลาดก็จะทำงาน สุดท้าย อาจขายไม่ได้ ขายไม่ออก เพราะแพงเกินไป!!

ทั้งหลายทั้งปวง ในยุคข้าวของแพง แต่ค่าแรงถูกเช่นนี้ คงต้องรอดูว่า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลราคาสินค้าทั้งประเทศ จะโชว์ฝีมือให้คนไทยทั้งประเทศยอมรับได้มากน้อยเพียงใด!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”