แอปเปิล บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ปรับปรุงนโยบายการปฏิบัติของพนักงานทั่วไปเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว เพื่อห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยพิจารณาจากวรรณะอย่างชัดเจน ซึ่งควบคู่กับหมวดหมู่เดิมที่มีอยู่ เช่น เชื้อชาติ, ศาสนา, เพศ, อายุ และบรรพบุรุษ

การปรับปรุงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังภาคส่วนเทคโนโลยี ซึ่งมีอินเดียเป็นแหล่งแรงงานต่างชาติที่มีทักษะ เจอกับเหตุการณ์สำคัญในเดือน มิ.ย. 2563 เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลการจ้างงานของรัฐแคลิฟอร์เนียฟ้องร้องบริษัทซิสโก ซิสเตมส์ ในนามของวิศวกรวรรณะล่างคนหนึ่ง ซึ่งกล่าวหาหัวหน้าวรรณะสูง 2 คน เรื่องการปิดกั้นอาชีพของเขา ซึ่งข้อพิพาทคดีการจ้างงานในสหรัฐ ที่กล่าวถึงการแบ่งแยกวรรณะครั้งแรกนี้ คือสิ่งที่บังคับให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เผชิญกับระบบชนชั้นที่มีอายุนับพันปีของอินเดีย

ขณะที่บริษัทเทคโนโลยีแห่งอื่นอย่างไอบีเอ็ม กล่าวว่า ทางบริษัทได้เพิ่มวรรณะ ซึ่งมีในนโยบายเฉพาะของอินเดียอยู่แล้ว ลงในกฎการเลือกปฏิบัติทั่วโลก หลังการยื่นฟ้องคดีบริษัทซิสโก แม้บีไอเอ็มจะปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดวันที่ หรือเหตุผลที่เจาะจง พร้อมกล่าวว่า การฝึกอบรมที่กล่าวถึงวรรณะ มีไว้สำหรับผู้จัดการในอินเดียเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แม้หลายบริษัทจะไม่ได้ระบุถึงวรรณะอย่างเฉพาะเจาะจงในนโยบายหลัก ไม่ว่าจะเป็น แอมะซอน, เดลล์, เมตา เจ้าของเฟซบุ๊ก, ไมโครซอฟต์ และกูเกิล แต่ทุกบริษัทข้างต้นต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาจะไม่ทนต่ออคติทางวรรณะ

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มวรรณะในจรรยาบรรณทั่วไปไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะบริษัทเวิล์ดไวด์เว็บคอนซอร์เทียม (ดับเบิลยูทรีซี) องค์กรจัดระบบมาตรฐานอุตสาหกรรมในรัฐแมสซาชูเซตส์ เคยแนะนำเรื่องนี้เมื่อเดือน ก.ค. 2563 ขณะที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และพรรคเดโมแครตของรัฐ ได้ติดตามประเด็นนี้ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวของแอปเปิลเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น โดยนโยบายการจ้างงานที่ยุติธรรมในปัจจุบันของบริษัทระบุไว้ว่า “แอปเปิลจะไม่เลือกปฏิบัติในการสรรหา, การฝึกอบรม, การจ้างงาน, หรือการส่งเสริมตาม 18 หมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็น เชื้อชาติ, สีผิว, บรรพบุรุษ, ชาติกำเนิด, วรรณะ, ศาสนา, ลัทธิความเชื่อ, อายุ รวมถึงความทุพพลภาพ, รสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศ”

ในทางตรงกันข้าม นายจ้างหลายคนต่างลังเลที่จะก้าวข้ามกฎหมายที่มีอยู่ ด้วยนโยบายหลักในบริษัทของตนเอง แต่บางบริษัทได้ดำเนินการเพิ่มในนโยบายรอง ซึ่งควบคุมการดำเนินงานที่จำกัด หรือใช้เป็นแนวทางหลวม ๆ เท่านั้น

ด้าน ศ.เควิน บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา คาดการณ์ว่าจะไม่มีการแก้ไขในทันที สำหรับการอภิปรายว่า บริษัทควรอ้างอิงถึงวรรณะหรือไม่ “นี่เป็นปัญหาที่จะได้รับการแก้ไขโดยศาล” เขากล่าว “เพราะประเด็นดังกล่าวในตอนนี้ยังไม่แน่นอน”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES