เป็นหนี้…ก็ต้องใช้!! ยืมเงิน…ก็ต้องคืน!! ถือเป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ ที่สำคัญ…หากเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับ “คนอื่น” เป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งต้องตระหนักให้มากเข้าไปอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง… หนี้! ที่กู้ยืมมาจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ที่เวลานี้ได้กลายเป็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์” เพราะมีกลุ่มคน ที่ต้องการ “ชักดาบ” หนี้ก้อนนี้แบบถูกกฎหมาย ด้วยการออกกฎหมายล้างหนี้ กยศ.

ชื่อ “เจ้าของหนี้” ก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นหนี้ที่ยืมมา…เพื่อการศึกษาเล่าเรียนหาความรู้ใส่ตัว เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้น

แต่กลายเป็นว่า… “การศึกษา” ที่เกิดขึ้น กลับไม่สามารถ “ยกระดับ” ความคิดของคนบางกลุ่มบางก้อนได้ กลายเป็นว่าทุกคนต้องได้ “เรียนฟรี” เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องได้รับ

จึงไม่ต้องแปลกใจ “ผลลัพธ์” ที่ออกมาจึงเอนเอียงไปในทิศทางของการ “ต่อต้าน” กันซะมากกว่า เพราะเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็น... ความวิบัติของตรรกะ ที่ชัดเจน

แม้เรื่องราวของ กยศ.จะเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างขว้างขวาง ในช่วงที่ผ่านมา ก็ตาม โดยเฉพาะเรื่องของการ “เบี้ยวหนี้” แต่ก็มีกระบวนการกระตุ้น ดึงดูด ชักชวน ให้ทุกคนจ่ายหนี้คืนอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมจาก กยศ.ที่อยู่ระหว่างชำระหนี้จำนวน 3,458,429 ราย รวมเป็นยอดหนี้คงเหลือจำนวน 337,857 ล้านบาท

นั่นหมายความว่าหากมีการชักดาบที่ถูกกฎหมายเกิดขึ้น โอกาสของคนรุ่นต่อไปที่จะเข้ารับการศึกษา ก็ย่อมลดน้อยถอยลงไปด้วยเช่นกัน

อย่าลืมว่า กยศ. ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 38 ในรูปแบบของเงินทุนหมุนเวียน ก่อนออกกฎหมายมารองรับเพื่อให้ฐานะของ กยศ.เป็นนิติบุคคล โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังเมื่อปี 41

“เป้าหมายหลัก” ก็เพื่อให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา

จากนั้นได้มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข โดยในปี 60 ได้มีนำ กยศ.และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. ให้มาอยู่ในกฎหมายเดียวกัน

ปัจจุบัน มีผู้กู้ยืมได้รับโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว 6,217,458 ราย เป็นเงินให้กู้ยืมกว่า 696,802 ล้านบาท และ กยศ.มีเงินหมุนเวียนจากการชำระคืนกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้กองทุนมีเงินให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้องกู้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินตั้งแต่ปีการศึกษา 61 ที่ผ่านมา

ขณะที่ในปีการศึกษา 65 นี้ กยศ.ยังได้เตรียมเงินกว่า 38,000 ล้านบาท เพื่อรองรับเด็ก นักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่จะเข้ามาใช้บริการอีกกว่า 6 แสนราย

ไม่ต้องคิดอื่นใดมากมาย ไม่ต้องคิดที่ไปที่มา ไม่ต้องคิดพวกที่กู้เงินไปแล้วนำไปใช้ไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ไม่ต้องคิดถึงพวกที่ “เบี้ยวหนี้”

คิดเพียงแค่…กว่า 6 แสนราย ที่มีโอกาสจะได้รับการศึกษาให้ดีขึ้น แค่นี้ก็เพียงพอ ที่ควร “ปิดจ๊อบ” พวกตรรกะวิบัติได้แล้ว

ทั้งหลายทั้งปวง ไม่ได้ “เข้าข้าง” เพียงแค่อยากให้หันกลับมาคิดถึงคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ กันสักหน่อย อย่าลืมว่า กยศ. ในเวลานี้ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินมาให้กู้ยืม แต่ใช้เงินหมุนเวียนจากการ “คืนหนี้” เพื่อมาให้กู้ยืมต่อ

ส่วนพวกที่ยังไม่พร้อมใช้หนี้คืนตามปกติ ก็มีระยะเวลาปลอดหนี้ เพื่อให้ตั้งหลัก แถมยังมีการปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้มีความผ่อนปรน ลดภาระของผู้กู้ยืม อีกสารพัด

แถมยังมีการขยายเวลามาตรการลดหย่อนหนี้ ชะลอการฟ้องร้องดำเนินคดี ชะลอการบังคับคดี กับผู้ที่เบี้ยวหนี้ อีกจำนวนไม่น้อย เพื่อให้ คนเหล่านี้ มีเวลาหายใจหายคอให้สะดวกเพิ่มมากขึ้น

จึงไม่เข้าใจว่า ประเด็นที่เรียกร้อง “ล้างหนี้” จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ในช่วงที่ผ่านมา เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? จึงได้แต่คิดได้แต่หวังว่า “สังคมไทย” คงไม่เห็นดีเห็นงามกับตรรกะนี้ไปด้วย ก็เท่านั้น

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”