นอกจากชาละวัน ไกรทอง บึงสีไฟ และวัดโพธิ์ประทับช้าง ที่ใคร ๆ ต่างรู้จักคุ้นเคยแล้ว “พิจิตร” เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีชุมชนเก่าแก่กับเรื่องราวของประวัติศาสตร์ในวันวานซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางเรือนไม้เก่าที่เรียงรายของสองข้างทางหลายแห่ง นอกจากย่านตลาดเก่าวังกรดแล้ว “บ้านท่าฬ่อ” เป็นอีกแห่งหนึ่งที่ว่า

ท่าฬ่อ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่เคยเป็นย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ไม่ใช่เพียงแค่ในเขตชุมชนท่าฬ่อเอง แต่ยังขยายอาณาเขตไปถึงชุมชนข้างเคียงด้วย ด้วยเพราะพื้นที่ของตำบลท่าฬ่อนั้น เป็นทางผ่านของหลายเขตพื้นที่ รวมถึงเป็นจุดศูนย์รวมของย่านการค้าในอดีต ทั้งยาสมุนไพรจีน เสื้อผ้า ของใช้ในครัวเรือน อาหารสด-แห้ง รวมถึงหมากพลู เหตุผลหนึ่งมาจากการตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก โดยมีเกวียนเป็นพาหนะหลักเคียงคู่กับการคมนาคมทางน้ำที่มีแม่น้ำน่านเป็นเส้นทางหลัก และนั่นทำให้อาชีพเรือรับจ้างเป็นจุดเด่นหนึ่งของท่าฬ่อด้วย

ชื่อของ ท่าฬ่อ นั้นว่ากันว่ามาจาก “ท่าล้อ” ซึ่งมาจากล้อเกวียน อีกพาหนะเดินทางหลักที่มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในพื้นที่ ทั้งการใช้งานของคนท้องถิ่นเองและพ่อค้าแม่ขาย เพราะมีเส้นทางเกวียนเป็นเส้นทางค้าขาย เมื่อผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การสื่อสารที่มีภาษาอื่นมาผสมผสาน จากท่าล้อจึงค่อย ๆ เพี้ยนเป็น “ท่าฬ่อ” ในที่สุดและเป็นชื่อเรียกขานของชุมชนมาจนถึงทุกวันนี้

แม้วันนี้ท่าฬ่อจะไม่ใช่ศูนย์กลางการค้าอย่างวันวาน ทว่าที่นี่ยังคงเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ความเรียบง่ายของวิถีชีวิตผู้คน ที่ยังคงมีเรือนแถวไม้เป็นที่อยู่อาศัย มีทางรถไฟมาแทนที่ทางเกวียน มี “วัดท่าฬ่อ” เป็นหนึ่งในศูนย์รวมจิตใจของผู้คน อุโบสถเก่าแก่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าสร้างเมื่อใด ภายในมีภาพวาดพุทธประวัติพระเจ้าสิบชาติ และประดิษฐานพระพุทธเก่าแก่ปางพระพุทธเจ้าเข้านิพพาน สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ และเชื่อกันว่าการไหว้พระพุทธเจ้าเข้านิพพานจะทำให้หมดทุกข์ นอกจากนี้ยังมี “หลวงพ่อหิน” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เดิมมีแต่เศียรอยู่กับต้นไทรแถววัดมหาธาตุใกล้ถ้ำชาละวันเมืองเก่าใครนำไปก็มีอันเป็นไป ต้องนำมาคืนไว้

ในปี 2502 ใกล้วันสงกรานต์ เจ้าคุณเมธีธรรมประนาท เจ้าอาวาสวัดท่าฬ่อ เกิดนิมิตเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่สวยงามมาก ท่านดีใจและอยากได้มาเป็นมิ่งขวัญสิริมงคลแก่วัด จึงขอร้องญาติโยมให้ช่วยสืบหาพระพุทธรูปจนได้ความว่ามีพระพุทธรูปอยู่จริงและมีแต่เศียร เป็นหินแกะสลักสวยงามมาก เศียรพระพุทธรูปนี้ จึงไปที่ต้นไทรนั้นจุดธูปสักการะและอธิษฐานเสี่ยงทายว่า ถ้าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของวัดท่าฬ่อจะขออัญเชิญไปอยู่วัดท่าฬ่อ บังเกิดความเงียบสงัด เกิดสิ่งอัศจรรย์ทันตาเห็น จึงนำกลับไปไว้ที่วัดท่าฬ่อก่อนจะติดต่อช่างจากสุโขทัยมาประกอบเป็นองค์พระได้สำเร็จ และให้เรียกชื่อว่า พระพุทธศิลามหามุนีนาถ (หลวงพ่อหิน) ตั้งแต่นั้น

นอกจากวัดแล้วที่นี่ยังมี “ศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อ” ศูนย์รวมจิตใจของชาวจีนไหหลำที่มาตั้งรกรากอยู่ในชุมชนท่าฬ่อ ตั้งอยู่ริมแม่น้ําน่านฝั่งตะวันออก มีองค์เจ้าแม่ทับทิม (ตุ้ยบ่วยเต่งเหนี่ยง) เป็นองค์ประธาน ด้านขวาเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อกวนอู ด้านซ้ายเป็นที่ประทับของเจ้าพ่อปุ้นเถ่ากง และปุ้นเถ่าม่า เล่ากันว่า องค์เจ้าแม่ทับทิม และองค์เจ้าพ่อกวนอู เจ้าของอู่ต่อเรือที่มาตั้งถิ่นฐานทำการค้าเป็นผู้อัญเชิญมาจากเกาะไหหลำ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในปี พ.ศ. 2410 ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อ เจ้าแม่แห่งศาลเจ้าแม่ทับทิมท่าฬ่อเลื่องลือไปทั่ว ทำให้ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีซึ่งมีการจัดงานสักการะเจ้าแม่ทับทิม มีผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหลกันมาร่วมงานส่วนใหญ่มาเพื่อแก้บนเรื่องขอมีบุตร

ใกล้กับศาลเจ้ามี โรงเรียนยกเอ็ง โรงเรียนเก่าแก่อายุนับ 100 กว่าปี เป็นโรงเรียนของลูกหลานชาวจีนไหหลำในสมัยนั้น มีโต๊ะเรียนที่ใช้มาตั้งแต่อดีตจัดแสดงไว้เหมือนเมื่อครั้งที่ยังมีการเรียนการสอน พร้อมกับจำลองเครื่องใช้ในอดีตของพี่น้องชาวจีนไว้ให้ชม

จากนั้นเดินทางต่อไปยัง “พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์” แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวการมาเยือนของท่านประธานาธิบดีโฮจิมินห์ เมื่อครั้งเดินทางมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย เกิดจากความร่วมมือระหว่าง จังหวัดพิจิตร, องค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ, สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ฮานอย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบชุมชนของตำบลป่ามะคาบ และเป็นตัวอย่างของพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ที่แสดงให้เห็นถึงการหล่อหลอมทางวัฒนธรรมอันแตกต่างร่วมกันของผู้คนในชุมชน และมิตรภาพอันดีของคนไทยที่มีต่อชาวเวียดนามมายาวนานเกือบร้อยปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 6,400 ตารางเมตร เดิมเป็นสุสานของชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ตั้งอยู่บริเวณใจกลางบ้านดง ตำบลป่ามะคาบ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและน้ําใจของประชาชนที่นี่ต่อประธานโฮจิมินห์ และชาวเวียดนามที่อพยพเข้ามาอาศัยที่บ้านดงเป็นที่แรก ภายในแบ่งออกเป็น 9 โซน ได้แก่ โซนสายสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม โซนบ้านดงในอดีต โซนโฮจิมินห์ ผู้ปลดแอกเวียดนาม โซนภูมิศาสตร์บ้านดง จังหวัดพิจิตร โซนชุมชนบ้านดง โซนภารกิจลับที่บ้านดง โซนการเคลื่อนไหวในสยาม โซนบากบั่นปลดแอก และโซนวีรบุรุษ

ด้านนอกอาคารมีบ้านจำลองของประธานโฮจิมินห์ เป็นบ้านยกพื้นสูง ภายในตัวบ้านมีรูปปั้นของประธานโฮจิมินห์ และหิ้งบูชา รวมถึงของใช้ส่วนตัวที่ท่านเคยใช้ เช่น ตู้ไม้ ตะเกียงน้ํามันเก่า

นอกจากเรื่องราวของประวัติศาสตร์แล้ว พิจิตรยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติให้เที่ยวชม โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนสิงหาคมเรื่อยไปจนถึงกลางเดือนตุลาคม มี “เทศกาลชมดอกกระเจียว (ยักษ์) บาน ที่บ้านเขาโล้น” ณ บริเวณป่าชุมชนบ้านเขาโล้น อ.ทับคล้อ ทุ่งดอกกระเจียว (ยักษ์) พื้นที่กว่า 400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่เขาโล้น เขาชะอมและเขาตะพานนาก หมู่ 6 บ้านเขาโล้น ตำบลเขาเจ็ดลูก จุดที่พบดอกกระเจียวยักษ์เป็นบริเวณพื้นที่เขาชะอม และเขาตะพานนาก มีต้นกระเจียวออกดอกขนาดใหญ่

กระเจียว เป็นพืชดั้งเดิมของไทยขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ในแถบภาคเหนือ และภาคอีสาน รวมทั้งประเทศใกล้เคียง ลำต้นจะอยู่ใต้ดินที่เรียกว่าเหง้าหรือหัว กลีบดอกสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร ชูช่อสีชมพู สลับสีขาว ตัดกับใบสีเขียว กระจายปกคลุมพื้นที่ด้านล่างของป่าชุมชนที่มีต้นไม้ขนาดกลางปกคลุม

การเดินเที่ยวชมทุ่งดอกกระเจียวยักษ์ เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 45 นาที นอกจากดอกกระเจียวแล้วยังมีดอกกระทือ องุ่นป่า ดอกเข้าพรรษา ดอกดิน รวมถึงพืชสมุนไพรนานาชนิดด้วย

ยังไม่หมดเท่านั้น หากมีโอกาสไปพิจิตรในช่วงต้นเดือนกันยายน ห้ามพลาดประเพณีแห่งปีอย่าง “งานประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2565” ประเพณีที่อยู่คู่กับพิจิตรและเป็นหนึ่งในการแข่งขันที่หลายคนรอคอยการแข่งเรือยาวของวัดท่าหลวงเริ่มในสมัย ท่านเจ้าคุณ พระธรรม ทัสส์มุนีวงค์ (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวง และเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ประมาณ พ.ศ. 2450 โดยกำหนดจัดงานแข่งขันเรือในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี แต่ภายหลังน้ําในแม่น้ําน่านลดลงเร็วเกินไป ไม่เหมาะสมจะแข่งขันเรือยาว จึงเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 10 แทน และจัดการแข่งขันเพียงวันเดียว แต่เดิมนำผ้าห่มหลวงพ่อเพชรมอบให้เป็นรางวัลสำหรับเรือยาวที่ชนะเลิศ และรองชนะเลิศ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นธงที่มีรูปหลวงพ่อเพชรแทน

สอบถามเส้นทางท่องเที่ยวพิจิตรเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานนครสวรรค์ โทร. 0-5622-1811-2 หรือติดตามที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ : TATNakhonsawan.Phichit

ประเพณีแข่งขันเรือยาวพิจิตร

จังหวัดพิจิตรจัดงานประเพณีแข่งขันเรือยาวจังหวัดพิจิตร ชิงถ้วยพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน 2565 ณ บริเวณลำน้ำน่าน หน้าวัดท่าหลวง พระอารามหลวง


ภายในงานพบกับ

  • พิธีบวงสรวงแม่ย่านางเรือ
  • นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและของดีประชารัฐจังหวัดพิจิตร
  • มหกรรมคาราวานสินค้า อาหาร จากทั่วทุกภูมิภาค
  • การแสดงศิลปวัฒนธรรมของเยาวชน ศิลปินท้องถิ่น
  • ขบวนเรืออัญเชิญถ้วยพระราชทานฯ ขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค
  • แข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ
  • การแสดงดนตรี คอนเสิร์ต