นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยกรณีปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ว่า หากสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ฝากจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วัน ดังนั้น หากใครมีเงินฝากต่อสถาบันการเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทจะได้รับเงินคืนเต็มจำนวน แต่หากใครมีเกิน 1 ล้านบาท เช่น มีเงินฝาก 2 ล้านบาทกับสถาบันการเงินเดียวกันจะได้รับเงินคืน 1 ล้านบาทภายใน 30 วัน ส่วนอีก 1 ล้านบาท สคฝ.จะนำทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมาจำหน่าย และคืนผู้ฝากเงินทุกราย ซึ่งจะได้รับเงินฝากส่วนที่เหลือคืนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ปัจจุบันบัญชีเงินฝากมีไม่เกิน 1 ล้านบาทที่ได้รับคุ้มครองเต็มจำนวนมีมากกว่า 98% ส่วนอีกเกือบ 2% ที่บัญชีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้เชื่อว่าจะมีการบริหารเงินที่ดี สามารถนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นเพื่อได้รับผลตอบแทนสูงกว่า หรือกระจายเงินฝากไปยังบัญชีสถาบันการเงินอื่นๆ เพราะความคุ้มครองไม่ได้นำเงินฝากของทุกแห่งมารวมกัน เช่น มีเงินฝาก 1 ล้านบาทกับสถาบันการเงินหนึ่ง และยังมีอีก 1 ล้านบาทกับอีกสถาบันการเงิน สามารถได้รับความคุ้มครองแบบเต็มจำนวน เพราะไม่ได้นำเงินฝากจาก 2 สถาบันการเงินมารวมกัน

สำหรับลำดับการคืนเงินจะเป็นการชำระด้านภาษีก่อน คือ กรมสรรพากร ต่อมาเป็นแรงงานพนักงาน และเป็นผู้ฝากเงิน ขณะที่ขั้นตอนต่าง ๆ กรณีสถาบันการเงินเกิดปัญหาจริง ปิดกิจการ ผู้ฝากเงินไม่ต้องยื่นคำร้องใดๆ แต่ สคฝ.จะมีข้อมูลจากสถาบันการเงิน โดยจ่ายคืนเงินฝากให้ 2 ช่างทาง คือ 1.พร้อมเพย์ ผูกบัญชีหมายเลขบัตรประชาชน และ 2.เช็ค กรณีไม่มีพร้อมเพย์ แต่จะถูกหักกับหนี้ที่ต้องชำระคืนก่อนหากหนี้นั้นถึงเวลาครบกำหนดชำระ แต่หากผู้ฝากเงินที่มีหนี้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหายังไม่ถึงเวลาชำระหนี้ สคฝ.จะระบุให้ว่าจะสามารถจ่ายชำระหนี้ได้ที่สถาบันการเงินใดแทน เพื่อให้ประวัติการชำระหนี้มีสถานะปกติ ไม่มีประวัติค้างชำระ

“ระบบคุ้มครองเงินฝากเป็นสิ่งที่ดี ไม่ให้ประชาชนเกิดโกลาหล และให้เกิดความมั่นใจในการเก็บเงิน เชื่อว่าการไม่มีระบบคุ้มครองเงินฝากเป็นไปไม่ได้ แต่อนาคตอาจมีทบทวนวงเงินคุ้มครองเงินฝากได้ ถ้ารายได้ต่อหัวประชากรสูงขึ้น และมีการฝากเงินสูงขึ้น อาจทบทวนคุ้มครองสูงขึ้นได้ แต่ไม่ได้ปรับลดวงเงินในช่วงนี้หรือระยะเวลาอันใกล้นี้อีก ซึ่งปัจจุบันคนไทย 1 คนมีแค่ 1 บัญชีมีมากเกินครึ่ง ต่างจากคนในเมือง 1 คน มีถึง 2-3 บัญชี และฝากออมทรัพย์มากกว่าเงินฝากประจำ”

นอกจากนี้ สคฝ.ยังหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมขยายคุ้มครองเงินฝากเพิ่มเติม โดยศึกษาคุ้มครองเงินอิเล็กทรอนิกส์หรืออีมันนี่ แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.เงินที่ผู้ให้บริการอีมันนี่ฝากไว้กับสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินต้องปิดกิจการ เกิดปัญหาจะทำอย่างไร และหากผู้ให้บริการอีมันนี่ถูกปิดกิจการเอง ผู้มีเงินฝากจะได้รับเงินคืนอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาเพื่อรองรับอนาคตด้วย แต่ตอนนี้ธุรกิจอีมันนี่ มีกฎเกณฑ์ความเข้มแข็ง เพราะไม่สามารถนำเงินทุกบาททุกสตางค์ของประชาชนไปใช้หรือให้กู้ใดๆ ได้

นายทรงพล กล่าวว่า สคฝ.ย้ำการเปลี่ยนแปลงวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาทมาเป็น 1 ล้านบาท จะเริ่มตั้งแต่ 11 ส.ค.2564 เป็นต้นไป โดยยืนยันคุ้มครองผู้ฝากเงินกับสถาบันการเงินทั้ง 35 แห่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท.และสถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง เงินกองทุนและเงินสำรองสูง

ด้านความคุ้มครองจะคุ้มครองบัญชีเงินฝาก 5 ประเภท ได้แก่ 1.เงินฝากกระแสรายวัน 2.เงินฝากออมทรัพย์ 3.เงินฝากประจำ 4.บัตรเงินฝาก และ 5.ใบรับฝากเงิน โดยบัญชีเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครองต้องเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น ไม่รวมสกุลต่างประเทศ เช่น เงินฝากสกุลดอลลาร์ เยน เป็นต้น และไม่รวมสินทรัพย์อื่นที่เป็นการลงทุน เช่น พันธบัตร คริปโตเคอเรนซี่ บัตรเติมเงิน อีมันนี่ จะยังไม่ได้รับความคุ้มครอง