ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศมีความเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ แม้ในเวลาเดียวกันถือเป็นคู่แข่งกันไปด้วยก็ตาม ด้วยความที่เป็นประเทศมีขนาดใหญ่ทั้งคู่ ทั้งในด้านพื้นที่ จำนวนประชากร ขนาดของกองทัพ และมูลค่าทางเศรษฐกิจ เรียกได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ ไม่ว่าจะดีหรือจะร้าย ราบรื่นหรือขลุกขลักเพียงใด ทุกความเคลื่อนไหวมีความสำคัญ และสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งโลก

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐ มีหมุดหมายที่สำคัญคือเมื่อปี 2515 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น เยือนกรุงปักกิ่งอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการปรับเปลี่ยนท่าทีครั้งสำคัญของรัฐบาลวอชิงตัน ในยุคสงครามเย็น นำไปสู่การบัญญัติกฎหมายยอมรับหลักการ “จีนเดียว” หมายถึงการรับรองรัฐบาลในกรุงปักกิ่ง “คือรัฐบาลที่ชอบธรรมแห่งเดียวของจีน” ซึ่งสภาคองเกรสผ่านกฎหมายดังกล่าว เมื่อปี 2521 ที่ในอีกด้านหนึ่ง หมายถึงการที่รัฐบาลวอชิงตัน “ต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ” กับ “สาธารณรัฐจีน” หรือ ไต้หวัน

นายหวัง อี้ รมว.การต่างประเทศจีน และนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ พบหารือนอกรอบการประชุมจี20 ที่เกาะบาหลีของอินโดนีเซีย เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การยอมรับหลักการจีนเดียวเป็นบ่อเกิดของ “ความคลุมเครือ” ด้านนโยบายยุทธศาสตร์การทูตของสหรัฐนับจากนั้นเช่นกัน เนื่องจากเพียงปีเดียวหลังจากนั้น คือเมื่อปี 2522 สภาคองเกรสบัญญัติกฎหมาย “ความสัมพันธ์ไต้หวัน” โดยมีการ “ตีความ” ไต้หวัน ว่าไม่ใช่สาธารณรัฐจีน แต่หมายถึง การที่สหรัฐจะมีความสัมพันธ์และความร่วมมือกับ “องค์กรบริหารส่วนกลางของไต้หวัน” และที่สำคัญคือ ไม่มีการให้หลักประกันอย่างเป็นทางการว่า สหรัฐจะช่วยเหลือไต้หวัน หากเกิดกรณีจีนโจมตีทางทหารหรือรุกรานไต้หวัน ที่รัฐบาลปักกิ่งถือว่า “เป็นมณฑลโพ้นทะเล” แต่จะมอบ “ความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น” เพื่อให้ไต้หวันสามารถนำไปใช้ป้องกันตนเอง

การขับเคลื่อนนโยบายแบบนี้ ทำให้สหรัฐสามารถมีความสัมพันธ์กับทั้งจีนและไต้หวันได้ในเวลาเดียวกัน และสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายได้พร้อมกัน ด้วยความเป็นประเทศอภิมหาอำนาจเพียงแห่งเดียวบนโลก แน่นอนว่าสหรัฐไม่เคยคิดว่าจะมีประเทศใดก้าวขึ้นมาทัดเทียมกันได้

อย่างไรก็ตาม จีนกลับสามารถพัฒนาตัวเอง และขยายอิทธิพลได้อย่างรวดเร็วกว่าที่รัฐบาลวอชิงตันเคยคาดคิดไว้ ไต้หวันจึงต้องเข้ามาอยู่บนหมากเกมแห่งอำนาจของสองประเทศยักษ์ใหญ่ และเข้าทางสหรัฐมากขึ้นไปอีก เมื่อไต้หวันกำลังอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลไทเปสายกลาง-ซ้าย ของประธานาธิบดีไช่ อิง-เหวิน

ความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ ที่หมายถึงการรักษาสถานะระหว่างจีนกับไต้หวัน แน่นอนว่าเป็นสถานภาพที่ทั้งสองฝ่ายพยายามรักษาเอาไว้ให้ได้นานที่สุดมาตลอด บนถนนที่ยังคงเป็นเส้นขนาน โดยขอเพียงแต่ “อย่าล้ำเส้นแดงซึ่งกันและกัน” เท่านั้น

นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนสหรัฐ อำลานายโจเซฟ อู๋ รมว.การต่างประเทศไต้หวัน หลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนกรุงไทเป

อนึ่ง จีนมีสุภาษิตหนึ่งว่า “ถางหลางปู่ฉาน” หมายความว่า “ตั๊กแตนจับจักจั่น นกขมิ้นอยู่ด้านหลัง” ที่มาของสุภาษิตนี้มาจากเรื่องราวสมัยโบราณของจีน เจ้าแคว้นอู๋ต้องการยกทัพไปปราบแคว้นฉู่ ขุนนางบุ๋นบู๊ต่างทูลคัดค้านเพราะสถานการณ์ยังไม่เหมาะสม ถ้ายกทัพไปมีโอกาสที่จะถูกแคว้นอื่นรุกรานตลบหลัง แต่เจ้าแคว้นอู๋ไม่ฟัง ซ้ำยังจะลงโทษคนที่คัดค้าน ทำให้ไม่มีใครกล้าอีก มีเพียงองค์ชายราชบุตรที่รอจังหวะ

กระทั่งเช้าวันหนึ่งเจ้าแคว้นอู๋เห็นองค์ชายในอุทยานยามเช้า พร้อมอุปกรณ์ล่าสัตว์ จึงถามว่ามาทำอะไรแต่เช้า องค์ชายจึงทูลว่าในอุทยานมีจักจั่นตัวหนึ่งส่งเสียงด้วยความสบายใจ โดยไม่รู้ว่าข้างหลังมีตั๊กแตนจ้องจะจับ ในขณะที่ตั๊กแตนก็ไม่ทันสังเกตว่านกขมิ้นตัวหนึ่งก็จ้องจะจับมันเช่นกัน แต่นกขมิ้นก็มองไม่เห็นกระหม่อมที่กำลังจะยิงมันอยู่ เจ้าแคว้นอู๋ฟังดังนั้นก็ทรงคิดได้ และยกเลิกการรุกรานแคว้นฉู่

สุภาษิตดังกล่าวใช้เพื่อเปรียบเปรยถึงผู้ที่ไร้วิสัยทัศน์ มักเล็งผลระยะสั้นโดยไม่ระวังว่า มีผลร้ายรออยู่ในระยะยาว นอกจากนี้ สุภาษิตดังกล่าวยังใช้กับผู้ที่คิดเอาแต่จ้องคิดบัญชีกับผู้อื่น โดยลืมไปว่า ตนเองก็อาจจะกำลังถูกผู้อื่นจ้องเตรียมจัดการอยู่เช่นกัน ในบริบทของความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่มีไต้หวันเป็นเดิมพันนั้น ใครเล่าคือ “ตั๊กแตน” “จักจั่น” และ “นกขมิ้น”.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : REUTERS