ถ้าไม่รักจริงคงทำไม่ได้ เป็นเสียงใส ๆ จาก “สพญ.รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร” หรือที่ชาวโซเชียลรู้จักเธอดีในชื่อ “หมอเตี้ย” ซึ่งคุณหมอนั้นมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาหลังจากโลกออนไลน์ได้มีการส่งต่อเผยแพร่เรื่องราวจากเพจของเธอ ทำให้หลาย ๆ คนนั้นอดรู้สึกชื่นชมกับ “ความเก่ง+ความใจกล้า” ของเธอไม่ได้ รวมถึงรู้สึก “ประทับใจ” ในเรื่องราวที่ผูกพันกันระหว่าง “คุณหมอตัวเล็ก” กับ “คนไข้ตัวใหญ่” ที่วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จักกับเธอให้มากขึ้น…

“ภาพชินตา” ของบรรดา FC ของ “หมอโบว์-สพญ.รัชดาภรณ์” ก็คือ ภาพคลิปวิดีโอในขณะที่เธอกำลังเตรียมการรักษาให้กับ “คนไข้ตัวใหญ่” ของเธออย่างแคล่วคล่อง สวนทางกับรูปร่างเล็ก ๆ ของคุณหมอ และสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็น “เสน่ห์” ที่ทำให้หลาย ๆ คนอดที่จะหลงรักเธอไม่ได้ ก็คือ “รอยยิ้มและอารมณ์ขัน” ของหมอโบว์

’เป็นหมอช้างไม่ได้ ถ้าไม่รักช้างจริง ซึ่งการที่ได้มาช่วยรักษาช้างนี้ เอาจริง ๆ มันเป็นความชอบส่วนตัวของโบว์นะ ถึงแม้เงินเดือนจะไม่เยอะ แต่ทำแล้วมีความสุข ทำให้โบว์สามารถทำงานนี้ได้ทุกวันแบบไม่ต้องมีวันหยุดเหมือนอาชีพอื่น เพราะเรามีความสุขทุกวันที่ได้ช่วยช้างหมอโบว์บอกเราเรื่องนี้ด้วยน้ําเสียงสดใส พร้อมกับเล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า เธอมีอาชีพเป็นสัตวแพทย์ แต่ที่ทำให้คนรู้จักเธอมากขึ้นน่าจะมาจากการที่เธอทำเฟซบุ๊กเพจชื่อ “หมอตัวเล็กกับคนไข้ตัวใหญ่” และช่องยูทูบที่ใช้ชื่อว่า “หมอเตี้ย” ซึ่งเป็นชื่อที่หมอโบว์ตั้งให้ตัวเอง เพื่อให้เหมาะกับรูปร่างและความสูงของตัวหมอโบว์ ซึ่งเรื่องของความสูงนี้ก็เป็นสิ่งที่หมอโบว์คิดว่า เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เธอแตกต่างจากหมอรักษาช้างคนอื่น โดยเธอบอกเราขำ ๆ ว่า…เธอคงเป็น “หมอช้างที่ตัวเล็กที่สุดในประเทศไทย” เพราะสูงแค่ 157 เซนติเมตรเท่านั้น

“เอาจริง ๆ โบว์ว่าก็ไม่ได้เตี้ยมากนะ (หัวเราะ) แต่พออยู่กับช้างก็เลยดูเตี้ย ใครเห็นก็แซวว่า เอ้า!…ทำไมเหลือตัวแค่เนี้ย จะฉีดยาช้างถึงเหรอ เราก็รู้ว่าเขาแซว เพราะต่อให้หมอสูง 170 เซนติเมตร ก็ต้องมีเก้าอี้เสริมเหมือนกัน เพราะช้างบางเชือกสูงถึง 3 เมตร ซึ่งความสูงนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคการรักษาช้าง แถมมีประโยชน์แบบคนตัวเล็กด้วย เพราะการทำแผลบางครั้งต้องการคนแขนเล็กเพื่อล้วงทำความสะอาด ซึ่งสัตวแพทย์ที่ โรงพยาบาลช้างกระบี่ ก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด” หมอโบว์เล่า

ทั้งนี้ ปัจจุบันหมอโบว์ อายุ 29 ปี เป็นสัตวแพทย์ประจำอยู่ที่โรงพยาบาลช้างกระบี่ โดยเธอเป็นหมอรักษาช้างมาได้ 4 ปีแล้ว หรือตั้งแต่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช ทุ่งใหญ่ โดยเธอเล่า “จุดเริ่มต้นการเป็นหมอรักษาช้าง” ว่า ตอนเรียนสัตวแพทย์ เธอก็เรียนการรักษาสัตว์ทุกชนิด แต่ตอนมาฝึกที่โรงพยาบาลช้างกระบี่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับสัตว์ตัวใหญ่ชนิดนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นความรัก ทำให้เมื่อเรียนจบก็มุ่งมาที่ช้างโดยเฉพาะ  

ภารกิจดูแลคนไข้ตัวใหญ่

’ต้องบอกว่าเหมือนพรหมลิขิต ตอนนั้นไม่มีตำแหน่งว่างเลย ระหว่างรองานโบว์จึงเก็บเกี่ยวประสบ การณ์รักษาสัตว์เล็ก กระทั่งวันหนึ่งโรงพยาบาลช้างกระบี่ ซึ่งขณะนั้นเป็นโรงพยาบาลช้างแห่งแรกและแห่งเดียวในภาคใต้ มีช้างป่วยติดเตียงอาการหนัก ต้องการหมอเพิ่ม จึงรีบสมัครทันที ทั้งที่ประสบการณ์ขณะนั้นเป็นศูนย์ (หัวเราะ)“

หมอโบว์ เล่าอีกว่า “น้องบัวสวรรค์” คือ “คนไข้ช้างรายแรก” ของเธอ เป็นช้างป่วยติดเตียง เนื่องจากมีอาการอัมพาตช่วงล่าง โดยหมอโบว์ยอมรับว่าการดูแลช้างป่วยติดเตียงไม่ใช่เรื่องง่าย และปกติช้างที่ตกอยู่ในสภาพแบบนี้มักมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน ซึ่งถ้าช้างล้มลง เธอก็ต้องลาออก แต่ที่เธอกล้าอาสารับเคสยากเคสน้องบัวสวรรค์ แม้ประสบการณ์จะยังน้อย เพราะมีรุ่นพี่ที่คอยดูแลให้คำแนะนำ ผนวกกับความอยากรักษาช้างมาก ทำให้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนเธอก็พร้อมจะสู้เต็มที่ โดยหมอโบว์บอกว่า น้องบัวสวรรค์เป็นหนึ่งใน “คนไข้ไซซ์จัมโบ้” ที่เป็น “เพื่อนรัก” ของคุณหมอมาจนถึงปัจจุบัน

เราได้ขอให้เธอช่วยเปรียบเทียบ ระหว่างรักษาช้างกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ โดย หมอโบว์ บอกว่า การรักษาช้างยากตรงที่จับบังคับไม่ได้ สัตว์อื่น ๆ ยังจับบังคับได้บ้าง ดังนั้นความยากที่สุดคือ ทำยังไงช้างเขาถึงจะยอมอยู่นิ่ง ๆ เพื่อให้ฉีดยาหรือทำการรักษา แต่ช้างก็มีข้อดีคือ เป็นสัตว์ที่เชื่อฟังมาก ๆ โดยเฉพาะถ้าเขามีควาญอยู่ด้วย เพราะเมื่อควาญบอกให้นิ่ง ช้างก็จะนิ่งทันที แต่ก็มีบ้างที่ไปเจอกับตัวที่ออกจะเฮี้ยว ๆ หน่อย ซึ่งกรณีนี้ หากดูแล้วคงทำให้นิ่งได้ยาก ก็อาจจะต้องใช้วิธีการมัดเขาไว้กับเสา เพื่อไม่ให้ดิ้นจนเกิดอันตราย และเพื่อเซฟสวัสดิภาพของทีมงานด้วย

’เขาเหมือนเด็กมาก เวลาฉีดยาหรือทำแผลให้สักอย่าง เขาจะดิ้น จะร้อง ดังนั้นการรักษาช้างจะต้องทำงานเป็นทีมเวิร์ก เพราะนอกจากทีมหมอที่จะต้องแตะมือสลับเวรกันแล้ว ยังต้องมีทีมผู้ช่วยอีก 4-5 คน คอยดูแลความปลอดภัยให้ด้วยขณะที่ทำการรักษา หรือช่วยผสมยาและส่งอุปกรณ์ให้ ซึ่งที่ขาดไม่ได้คือควาญหรือเจ้าของช้าง เพราะคือคนที่ช้างไว้ใจที่สุด ซึ่งถ้าควาญอยู่ข้าง ๆ นี่จะรู้สึกอุ่นใจมาก เพราะช้างอาจจะตื่นกลัวหมอ เหมือนกับเด็กกลัวคนแปลกหน้า และถ้าหากเขาเกิดกลัวขึ้นมา ก็จะทำทุกอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง“ หมอโบว์บอกเรื่องนี้

พร้อมกับได้ยกเคสมาเล่าให้ฟังว่า อย่างมีช้างตัวหนึ่งโดนกระเบื้องแทงเท้า แต่ช้างไม่ยอมให้หมอไปทำอะไรเลยกับเท้า เอาแต่จะหนี ไม่ว่าเจ้าของช้างหรือควาญช้างจะทำยังไงก็ไม่ยอม ซึ่งวันแรกทีมหมอเข้าไปทำแผลไม่ได้ จนต้องเปลี่ยนวิธีการใหม่ ด้วยการเอาอาหารมาล่อ เพื่อให้เขารู้ว่า ที่นี่ไม่มีอันตราย พอเริ่มไว้ใจ ช้างก็จะเดินเข้ามาหาเอง ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งความยากของการรักษาช้าง เพราะบางครั้งต้องใช้เวลานานหลายวันกว่าที่ช้างจะยอมให้เข้าถึงตัว ซึ่งกับกรณีนี้เป็นเพียงอาการเล็ก ๆ แต่ถ้าเป็นเคสหนัก ๆ ที่ช้างมีความเสี่ยงจะเสียชีวิต ถ้าช้างเสี่ยงล้ม การทำงานจะดุเดือด จะบู๊ล้างผลาญมากขึ้นแบบทวีคูณ เช่น ถ้าเป็นเคสฉุกเฉิน ช้างมีเลือดไหลไม่หยุด ถ้าเป็นเคสแบบนี้ทีมหมอก็จำเป็นต้องใช้การจับบังคับอย่างดุเดือด

การรักษาช้างสักเชือก จะหนักหรือเบาก็ต้องมีทีมงานช่วยตลอด ช้างเป็นสัตว์ที่ไม่สามารถรักษาคนเดียวได้ อย่างน้อยต้องมีเจ้าของหรือควาญที่เข้าหาช้างได้ ซึ่งจะเป็นคนบอกเราว่าตอนไหนเข้าได้เข้าไม่ได้ หมอไม่สามารถเข้าหาช้างได้หากไม่รู้จักนิสัยช้างเชือกนั้นก่อน เพราะแทนที่เราจะช่วยเขาให้พ้นอันตราย เราอาจจะตกอยู่ในอันตรายเสียเองก็ได้ และนอกจากเจ้าของช้างแล้ว ที่ต้องมีอีกตำแหน่งคือควาญช้างประจำโรงพยาบาล ซึ่งเขาจะช่วยเซฟหมอ และช่วยอำนวยความสะดวกให้

 หมอโบว์เล่าถึงภารกิจให้ฟังต่อไปว่า ช้างที่รักษาอยู่ในโรงพยาบาลเป็นช้างที่แอดมิท ที่ต้องรักษาต่อเนื่อง ส่วนเคสฉุกเฉิน ช้างที่ไม่สามารถขนย้ายมาที่โรงพยาบาลได้ ทีมหมอก็ต้องไปหาช้างเอง โดยบางเคสที่เจอมา บางครั้งช้างไปลากไม้อยู่ในป่า เอารถเข้าไปไม่ได้เพราะทางลำบาก ก็ต้องขนยาและอุปกรณ์เดินเท้าเข้าไป แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพราะที่โรงพยาบาลมีโครงการ “หมอสัญจร” อยู่แล้ว ซึ่งเป็นการออกไปตรวจสุขภาพช้างเป็นประจำ ใช้เวลาออกตรวจครั้งละ 1 เดือน ซึ่งทีมหมอสัญจรจะไม่ได้กลับบ้านเลยจนกว่าจะเสร็จสิ้นภารกิจในการออกตรวจช้างทุกเชือกในภาคใต้ ซึ่งมีอยู่เกือบ 1,000 เชือก

’ช้างแอบอยู่ตรงไหน หมอก็ไปตรวจสุขภาพให้หมด ทั้งหมดเป็นบริการฟรี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช้างลากไม้ ซึ่งปกติช้างต้องได้รับการถ่ายพยาธิ 6 เดือนครั้ง ไม่งั้นจะมีปัญหาเรื่องระบบลำไส้ หมอกับทีมงานก็แพลนไว้ว่าปีหนึ่งจะต้องออก 2 ครั้ง หลัก ๆ คือตรวจพยาธิ จ่ายยาบำรุง ยาทั่วไปตามอาการโรค“ เป็นภารกิจของหมอโบว์และทีมหมอกับทีมดูแลช้าง ที่นอกจากจะดูแลรักษาช้างในโรงพยาบาลแล้ว ก็ยังต้องบุกป่าฝ่าดงเพื่อไปดูแลสุขภาพให้กับช้าง

หมอโบว์กับคุณแม่

เราถามถึง “ค่าตอบแทน” ที่ได้รับ หมอโบว์ ตอบว่า ถ้าเป็นคนพอเพียงก็อยู่ได้นะ โดยเธอเทียบประสบการณ์ตอนที่เป็นหมอในคลินิกรักษาสัตว์เล็กว่า เป็นหมอในคลินิกจะต้องมีความน่าเชื่อถือเป็นหลัก ผมเผ้าต้องสะอาดเรียบร้อย แต่งหน้าแต่งตัวสวย ต้องใช้อุปกรณ์ชโลมผิวอะไรเยอะ ค่าใช้จ่ายก็เยอะตามไปด้วย แต่พอมาเป็นหมอรักษาช้าง ต้องทำงานกลางแดด ทำให้ไม่จำเป็นต้องซื้อของพวกนี้ใช้ จึงทุ่นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงไปได้เยอะ “ถามว่าเงินเดือนพอไหม มันขึ้นกับภาระของแต่ละคน สำหรับโบว์ โบว์มีคุณแม่ที่เป็นอัลไซ
เมอร์ โดยคุณแม่เคยเป็นครู แต่ต้องลาออกเพราะป่วย ซึ่งตอนนั้นหมอเครียดมาก เคยคิดจะลาออกเพื่อมาดูแลคุณแม่ แต่เจ้านายเขาก็เรียกมาคุยเพื่อหาทางออกให้ เพราะเขาไม่อยากให้ลาออก เนื่องจากหมอช้างหายากมาก ก็สรุปคือคุณพ่อออกจากงานมาดูคุณแม่ และจ้างพยาบาลพิเศษมาดูแลด้วย เรียกว่าค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนสูงมาก ทำให้เราเลยต้องมีอาชีพเสริม เช่น ขายสินค้าออนไลน์ และไลฟ์สดคล้ายเป็นวีเจพูดคุยกับคนที่เข้ามาดู และรับงานรีวิวสินค้าด้วย เพื่อที่จะมีรายได้หลาย ๆ ทางมาช่วยดูแลครอบครัว”
เป็น “ชีวิตเบื้องหลัง” ของเธอคนนี้ ที่ “ต้องสู้ไม่น้อย”

ก่อนเอ่ยลากัน “ทีมวิถีชีวิต” ถามย้ํา “หมอโบว์-สพญ.รัชดาภรณ์ ศรีสมุทร” ว่า ’จะเป็นหมอช้างต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?“ โดยเธอตอบว่า อันดับแรกคือ “ใจรัก” เพราะเงินเดือนหมอช้างไม่ได้มาก ต่อมาคือ “ใจกล้า” เพราะงานนี้มีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน สุดท้ายคือ “ใจอดทน” เพราะการรักษาบางทีก็นานกินเวลาหลายเดือน แต่เธอก็บอกว่า ทั้งหมดไม่ยากเกินตั้งใจ โดยเฉพาะถ้าได้ลองอยู่ใกล้ ๆ “คนไข้ตัวใหญ่” ของเธอสักครั้งแล้วละก็…

จะต้อง “ตกหลุมรัก”.

‘เคยฝัน’ ว่า ‘จะเป็นผู้ประกาศข่าว’

FC รุ่นเยาว์ของหมอโบว์

“หมอโบว์” เล่าขำ ๆ ให้ฟังถึง “ความฝันวัยเยาว์” ว่า ’เคยฝันจะเป็นผู้ประกาศข่าว“ โดยตอนเป็นเด็กเธอชอบอ่านข่าว มักจะแอบเอาหนังสือพิมพ์มาทดลองอ่านออกเสียง และโตมาก็ยังชอบอยู่ แต่คุณพ่ออยากให้เรียนสายวิทย์-คณิตมากกว่า เธอจึงตามใจคุณพ่อ จนได้มาเป็น “สัตวแพทย์” ซึ่งปัจจุบันคือ “อาชีพที่รักและชอบมาก” และเธอยังได้ฝากถึง “น้อง ๆ คนรุ่นใหม่” ว่า ’อยากให้ได้มาลองสัมผัสอาชีพนี้ ซึ่งถ้าได้ลองแล้วอาจถอนตัวไม่ขึ้นกับความสดใสและจริงใจของช้าง“.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน