นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยถึงมาตรการกำกับดูแลการจำหน่ายชุดตรวจโควิด แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตัวเองว่า กรมการค้าภายใน ได้ทำหนังสือไปยังผู้นำเข้าและจำหน่ายเอทีเค ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้แจ้งต้นทุนการนำเข้า ซึ่งเป็นราคานำเข้า ที่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ และราคาที่จะขายในประเทศ เพื่อให้กรม และกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิจารณากำหนดราคาขายที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการได้ทยอยแจ้งมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม เครื่องตรวจโควิดที่นำเข้ามามีหลากหลายแบบ หลากหลายคุณภาพ และมีต้นทุนที่ต่างกันมาก จึงไม่สามารถกำหนดเพดานสูงสุดเท่ากันในทุกยี่ห้อได้ว่าควรจะขายได้ไม่เกินเท่าไร เพราะจะไม่สอดคล้องกับคุณภาพ เช่น ต้นทุนต่ำ แล้วอนุญาตให้ขายในราคาเท่ากับต้นทุนสูง ก็จะไม่เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค หรือต้นทุนสูงแล้วให้ขายเท่ากับต้นทุนต่ำ ก็จะไม่เป็นธรรมสำหรับผู้นำเข้า โดยระหว่างนี้จะใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มาตรา 29 ติดตามดูแลราคาหากขายสูงเกินควร หรือค้ากำไรเกินควร จะลงโทษสูงสุดจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้มีเอทีเคของผู้ประกอบการ 26 ราย ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.แล้ว แต่เริ่มวางขายในประเทศยังไม่ครบทุกราย ซึ่งกรมได้ทยอยแจ้งให้ทุกราย ส่งข้อมูลต้นทุนการนำเข้าและราคาขายมาให้ และสัปดาห์หน้า กรมจะทยอยนำราคาขายเอทีเคแต่ละยี่ห้อ ประกาศบนเว็บไซต์กรมที่ www.dit.go.th เพื่อให้ประชาชนเข้ามาตรวจสอบได้ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ แต่เชื่อว่าหลังจากที่มีวางขายหลายยี่ห้อมากขึ้น จะทำให้มีราคาที่ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น 

นายจุรินทร์ กล่าวว่าได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ติดตามสถานการณ์สินค้าอุปโภค บริโภคในภาวะวิกฤติ รวมทั้งให้พาณิชย์จังหวัดเร่งเข้าไปตรวจสอบ ส่วนปัญหาด้านการผลิตขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ให้รับฟังความเห็นของภาคเอกชน หากจำเป็นต้องปิดโรงงาน ก็ขอให้ปิดเฉพาะในส่วนที่มีปัญหา ไม่ต้องปิดทั้งโรง เพราะจะกระทบต่อการผลิต ทั้งปริมาณสินค้าในประเทศและการส่งออก รวมทั้งขอให้อำนวยความสะดวกกรณีการขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด เพราะเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสินค้าให้บริการกับพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์จำหน่ายสินค้าว่า ผู้ผลิตทุกรายยืนยันว่ากำลังการผลิตเพียงพอต่อการความต้องการในประเทศ ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาแรงงานบ้างก็ตาม โดยกระทรวงฯ ได้กำชับให้ซูเปอร์มาร์เกต ร้านสะดวกซื้อ ปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อรองรับสถานการณ์ โดยต้องเติมสินค้าเข้าตลอดเวลา ซึ่งแม้จะมีภาพที่สื่อออนไลน์ลงไป สินค้าไม่มีบ้าง ก็เป็นแค่บางช่วงเวลาที่มีการระดมไปซื้อพร้อมกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้ขาดแคลน