เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่รัฐสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ประธานกรรมการรางวัลแว่นฟ้า ปี 2565 พร้อมด้วยนางรื่นฤทัย สัจจพันธุ์ ราชบัณฑิต ประเภทวิชาวรรณศิลป์ สาขาวิชาวรรณกรรมร้อยแก้ว สำนักศิลปกรรม ปี 2563 นางตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า ปี 2564  แถลงผลการตัดสินวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2564

โดยในปีนี้เรื่องสั้น “มือเย็น” ของวัฒน์ ยวงแก้ว ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทเรื่องสั้น และบทกวี “หมู่บ้านเหิรลม” ของปราสาทหิน พันยอด ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทบทกวี ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมการรางวัลแว่นฟ้า ปี 2564 ได้จัดประกวดวรรณกรรมรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2564 ประเภทเรื่องสั้นและบทกวี เพื่อส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย โดยเปิดรับผลงานเข้าประกวด ตั้งแต่เดือน ม.ค.-31 มี.ค. ซึ่งปีนี้มีผลงานส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น จำนวน 1,000 ผลงาน แบ่งเป็นเภทเรื่องสั้น จำนวน 403 ผลงาน และบทกวี จำนวน 597 ผลงาน โดยรางวัลชนะเลิศได้รับเงินรางวัลจำนวน 6 หมื่นบาท

เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ทศวรรษของรางวัลพานแว่นฟ้า คณะกรรมการรางวัลพานแว่นฟ้า 2564 เห็นสมควรมอบรางวัลพานแว่นฟ้าเกียรติยศ ให้กับผลงานวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า สมควรแก่การเผยแพร่ให้เป็นแบบอย่าง เพื่อปลุกเร้าหรือเป็นแรงบันดาลใจแก่นักเขียนและผู้รักประชาธิปไตยในสังคมไทย โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเลือกสรรผลงานวรรณกรรมให้ได้รับรางวัลแว่นฟ้าเกียรติยศเสร็จเรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย 1.ความฝันของนักอุดมคติ โดย ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน 2.ระย้า โดยสด กูรมะโรหิต 3.แผ่นดินนี้ของใคร โดยศรีรัตน์ สถาปนวัฒน์ 4.เขาตะโกนหานายกรัฐมนตรี โดยอิศรา อมันตกุล

5.แผ่นดินเดียวกัน โดยรพีพร (สุวัฒน์ วรดิลก) 6.เพียงความเคลื่อนไหว โดยเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ 7.เจ้าขุนทอง โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ 8.ขุนทอง…เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง โดยศอัศศิริ ธรรมโชติ 9.คนคนนี้แหละคน โดยรวี โดมพระจันทร์ (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ) 10. ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย โดยเสกสรร ประเสริฐกุล

ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะจัดพิธีมอบรางวัลพานแว่นฟ้า ประจำปี 2564 ผ่านช่องทางออนไลน์ ในช่วง เดือน ก.ย. โดยสามารถติดตามรับชมพิธีดังกล่าวผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “รางวัลพานแว่นฟ้า”.