เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้เป็นประธานในการประชุมสร้างความรู้ความเข้าใจการนำแนวทางการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” สู่การปฏิบัติ ผ่านระบบการประชุมทางไกล Zoom Meeting จัดโดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. มีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา 183 คน ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานด้านการจัดการศึกษาปฐมวัย 183 คน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด 81 คน รวมถึงนักวิชาการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้นกว่า 500 คน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” โดยโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและคุณภาพผู้เรียนปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัย เป็นคนดี มีวินัย เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยไปสู่การปฏิบัติได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยใช้ศักยภาพของโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดในการพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัยให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ได้ร่วมยกระดับคุณภาพเด็กปฐมวัยไปพร้อมกัน ทางด้านนางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะถดถอยทางพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย และการจัดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สู่การพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ขณะที่ นายวิษณุ ทรัพย์สมบัติ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา ได้สร้างความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการไปสู่การปฏิบัติ โดยความร่วมมือระหว่างสถานศึกษา พ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทางด้านนายบุญเลิศ ค่อนสอาด ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานการศึกษา และนายชาญชัย ไชยพิศ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลบุรีรัมย์ นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด (แห่งประเทศไทย) ได้ชี้แจงการขับเคลื่อนงานการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” โดยโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด ผ่านกิจกรรม “เด็กปฐมวัย คิดได้ ทำเป็น เล่นสนุก” ภายใต้โครงการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย”
.
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สพฐ. จะ kick off โครงการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต “เด็กปฐมวัย” โดยมีโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดเป็นแกนนำ ร่วมกับโรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่การศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จากนั้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จะขยายไปสู่โรงเรียนอนุบาลประจำเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งบทบาทของโรงเรียนที่เป็นแกนนำ คือ เป็นศูนย์วิชาการที่เป็นต้นแบบด้านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย และการพัฒนาพ่อแม่ ผู้ปกครอง พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ในการศึกษาดูงานและพัฒนาบุคลากรให้แก่โรงเรียนอื่นๆ ในด้านการจัดการศึกษาปฐมวัยด้วย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการสมวัย เป็นคนดี มีวินัย เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อไป