สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ว่าประธานาธิบดีอีบราฮิม ไรซี สาบานต่อที่ประชุมสภาที่ปรึกษาแห่งชาติ หรือสภาผู้แทนราษฎร ในกรุงเตหะราน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา รับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลอิหร่านคนที่ 13 อย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่การปฏิวัติ เมื่อปี 2522 หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อกลางเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา "ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนถล่มทลาย" 
อย่างไรก็ตาม ในทางพฤตินัยถือได้ว่าไรซีเริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันอังคารที่ผ่านมา หลังได้รับการประกาศยืนยันจากอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ซึ่งสนับสนุนไรซี อดีตประธานศาลฎีกา วัย 60 ปี และมีชื่ออยู่ในบัญชีดำการคว่ำบาตรของสหรัฐ ในฐานะหนึ่งในบุคคลใกล้ชิดกับอยาตอลเลาะห์ และการเกี่ยวข้องกับการประหารชีวิตนักโทษการเมืองชุดใหญ่ เมื่อปี 2531
อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน มอบเอกสารรับรองให้แก่ประธานาธิบดีอิบราฮิม ไรซี
ทั้งนี้ ผู้นำอิหร่านคนใหม่ยังไม่ได้กล่าวอะไรโดยตรงถึงสหรัฐ แต่ใช้คำว่า "มาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดต้องถูกยกเลิก" และ "รัฐบาลเตหะรานชุดใหม่จะดำเนินการ พร้อมทั้งสนับสนุนความพยายามทางการทูตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย"
ขณะเดียวกัน ไรซีส่งสัญญาณของการ "เดินหน้างัดข้อ" กับรัฐบาลวอชิงตันและพันธมิตร โดยกล่าวว่า "ที่ใดก็ตามบนโลกซึ่งมีอาชญากรรมและการกดขี่ข่มเหง" ไม่ว่าจะเป็นในกลางทวีปยุโรป สหรัฐ เยเมน ซีเรีย ปาเลสไตน์ และในทวีปแอฟริกา "อิหร่านจะยืนหยัดเคียงข้างประชาชนในพื้นที่นั้น" 
ด้านนายเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ กล่าวถึงไรซีเพียงว่า สารของรัฐบาลวอชิงตันต่อประธานาธิบดีอิหร่านทุกคน "ไม่เคยเปลี่ยนแปลง" นั่นคือสหรัฐ "พร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ" และเตือนอีกฝ่ายว่า "โอกาสทางการทูตไม่ได้เปิดกว้างตลอดไป" หมายถึงการเจรจาเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์ ฉบับปี 2558 แต่จนถึงตอนนี้รัฐบาลวอชิงตันยังไม่มีท่าทีชัดเจน ว่าจะกลับเข้าร่วมหรือไม่ นับตั้งแต่ถอนตัวออกจากการเป็นภาคี เมื่อปี 2561.

เครดิตภาพ : AP