รายงานข่าวจากตลาดเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดช่วงเช้าวันที่ 6 ส.ค.อยู่ที่ 33.28 บาทต่อดอลลาร์ ถือว่าอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปี 9 เดือนครั้งใหม่ เทียบกับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 33.22 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้กระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเรื่อย ๆ และยังไม่สามารถเปิดประเทศได้เหมือนในอดีตที่ไทยเคยพึ่งพิงการท่องเที่ยว ประกอบกับเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ทำให้เงินบาทได้รับแรงกดดันจนอ่อนค่าสุดในภูมิภาค

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทอ่อนค่าทิศทางเดียวกับเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อการระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และอ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลภูมิภาค โดย ธปท.จะติดตามตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด และดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ

ก่อนหน้านี้ น.ส.รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทเป็นเงินสกุลที่อ่อนค่าที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากไทยต้องพึ่งพิงการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจนมีผลต่อเงินบาท และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะติดตามใกล้ชิด แม้จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ 0.5% แบบไม่เอกฉันท์นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ พ.ค.63 แต่เชื่อว่าการประชุมกนง.ครั้งหน้าวันที่ 29 ก.ย.64 อาจเห็น กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการเฉพาะจุด

นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) กล่าวว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 64 และปี 65 หากเศรษฐกิจเป็นไปตามการประเมินล่าสุดของ กนง. ที่การระบาดจะถูกควบคุมได้ในช่วงต้นไตรมาส 4 แต่มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในปี 64 มีความน่าจะเป็น 30% หากการระบาดจากสายพันธุ์เดลต้า และการฉีดวัคซีนอย่างช้า ๆ ก็ทำให้มีโอกาสที่การระบาดและมาตรการการควบคุมจะยาวนานกว่าคาด กระทบต่อการฟื้นตัวและแผลเป็นทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น จนอาจให้ กนง.ลดดอกเบี้ย 0.25% เพื่อพยุงเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกัน