…เป็น “ความสำคัญ” ของเรื่องนี้ ที่ทาง ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ อาจารย์ คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แนะนำไว้ อีกทั้งยังระบุไว้ว่า… วิธีนี้เป็นหนึ่งในแนวทางที่ดีที่จะช่วย “สร้างพลังชีวิตให้คนไทย” ซึ่งแนวทางนี้ในทางจิตวิทยาก็มีคำศัพท์ที่ใช้เรียก…

แนวทางการ “สร้างคุณค่าให้ตนเอง” นี้…

ในภาษาอังกฤษนั้นใช้คำว่า “self esteem”…

ที่ในไทย คนไทยก็น่าลองใช้เป็น “ขุมพลังชีวิต”

ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ

ทั้งนี้ วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อคำแนะนำเกี่ยวกับการ “สร้างคุณค่าให้ตนเอง” หรือ “self esteem” ซึ่งเป็นข้อมูลจากบทความโดย ดร.พูลทรัพย์ อารีกิจ อาจารย์คณะจิตวิทยา ที่เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้แนะนำเทคนิค “สร้างขุมพลังชีวิต” ไว้ว่า… เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ทุกคนต่างก็ปรารถนาความสุข แต่การดำเนินชีวิต ไม่สามารถเกิดความสุขได้ตลอดเวลา แต่ย่อมจะมีปัญหาเข้ามา เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตที่ไม่อาจเลี่ยงปัญหาได้ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามาเหล่านี้ สำหรับบางคนอาจทำให้รู้สึกบั่นทอน ทำให้รู้สึกไม่มั่นใจ จน “มองเห็นคุณค่าตัวเองน้อยลง”

สำหรับภาวะนี้ กับการที่ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในตัวเองได้นั้น ก็จะทำให้เกิดความรู้สึก “ไม่มั่นใจในชีวิต” รวมถึงทำให้เกิดความรู้สึก “มองเห็นคุณค่าตัวเองน้อยลง” ซึ่ง หากไม่สามารถสลัดความคิดนี้ได้ ความรู้สึกจะยิ่งทับถม จนดูเหมือนปัญหาหนักหนาเกินจะรับมือ อันจะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หมดพลัง รู้สึกตนเองไร้ค่า ดังนั้น “ความสามารถและทัศนคติเชิงบวกในการเผชิญทุกข์” จึง “เป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับชีวิต” ของมนุษย์ทุกคน…

แล้ว self esteem คืออะไร? และ เหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับความมั่นใจในตัวเอง (self confidence) ซึ่งเรื่องนี้ ดร.พูลทรัพย์ ได้อธิบายไว้ในบทความว่า… self confidence หรือความเชื่อมั่นในตัวเอง จะเน้นไปที่ความเชื่อมั่นที่เกิดจากทักษะและความสามารถ เช่น ทำอาหารเก่ง วาดรูปได้ดี เป็นต้น ซึ่งแต่ละคนย่อมมีบางเรื่องหรือหลายสิ่งที่ตัวเองรู้สึกมั่นใจได้ แต่ในบางเรื่องก็อาจจะรู้สึกไม่มั่นใจเลย เพราะไม่มีความถนัด ส่วน self esteem หรือการเห็นคุณค่าในตัวเอง เป็นเรื่องทัศนคติที่มีต่อตนเองโดยภาพรวม หรือ เป็นสภาวะอารมณ์ภายในจิตใจ และมุมมองที่มีต่อตัวเอง

มี “self confidence” ก็ใช่ว่าจะมี “self esteem”

ทาง ดร.พูลทรัพย์ ได้อธิบายเพิ่มเติมเรื่องนี้ไว้อีกว่า… การเห็นคุณค่าในตนเองนั้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏให้ผู้อื่นเห็นอย่างชัดเจนเหมือนกับเรื่องของทักษะและความสามารถ โดยผู้ที่มั่นใจในตัวเองนั้นอาจเกิดมาจากความถนัดในทักษะหรือความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะมองเห็นคุณค่าในตัวเองได้เสมอไป ขณะที่ ผู้ที่เห็นคุณค่าในตนเองคือผู้ที่รู้จักตนเอง รู้ว่าตัวเองเป็นใคร? ต้องการอะไร? ชอบอะไร? ซึ่งการเห็นตัวเองจะช่วยทำให้รู้สึกพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่และมีอยู่ ตลอดจน รับรู้คุณค่าของตัวเองจากปัจจัยภายใน ที่จะนำไปสู่การ เป็นตัวของตัวเองอย่างเหมาะสม นั่นเอง

“ผู้ที่มี self esteem ในระดับที่เพียงพอ จะมีอิสระในการแสดงออก กล้าสื่อสารความต้องการและจุดยืนตัวเอง และในเวลาเดียวกันก็เคารพความเป็นตัวตนของผู้อื่นด้วย ทำให้สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับผู้คนรอบข้างได้ดีกว่าผู้ที่ไม่มี self esteem” …ดร.พูลทรัพย์ ระบุถึง “คุณประโยชน์ที่สำคัญ” อีกประการของเรื่องนี้

ส่วน “วิธีเพิ่ม self esteem” ทางอาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ให้คำแนะนำไว้ดังนี้คือ… 1.ฝึกอยู่กับตัวเอง เพื่อให้เข้าใจและชัดเจนกับตัวเอง โดยมองย้อนถึงสิ่งที่ได้ทำไปทั้งหมด วางการตัดสินผิดหรือถูก แต่ตั้งคำถามว่าที่ผ่านมาเราอยู่กับตัวเองแบบไหน? เจอเหตุการณ์อะไร? ตอบสนองเช่นไร? 2.ฝึกมองให้เห็นคุณภาพภายในตัวเอง เพื่อรับรู้บุคลิกภาพเชิงบวกของตนเอง อาทิ ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น ความพยายาม ความอดทน ความขยัน ความกตัญญู ฯลฯ

3.ฝึกรู้เท่าทันอารมณ์และความคิดตัวเอง ด้วยการลองหยุดถามตัวเองว่า… เรารู้สึกอย่างไร? หรือทำไมเราโกรธตัวเอง? เป็นต้น ซึ่งการฝึกแบบนี้จะทำให้เราสามารถเริ่มมองเห็น ตัวตนที่เป็นอยู่ (real self) และก็ ตัวตนในอุดมคติที่อยากจะเป็น (ideal self) ด้วย 4.ฝึกเป็นเพื่อนกับตัวเอง โดยเฉพาะเวลาที่ต้องการกำลังใจ ด้วยการถามตัวเองว่าเป็นยังไงบ้าง? ซึ่งจะทำให้เราเติบโตและเป็นคนที่พัฒนาได้ โดยการฝึกนี้นอกจากเยียวยาใจแล้ว ยังเพิ่มกำลังใจให้ตัวเองด้วย

วิธีถัดมา… 5.ใส่ใจการสื่อสารกับตัวเอง โดยฝึกพูดกับตัวเองในใจด้วยภาษาที่อ่อนโยนเชิงบวก กับลดเลิกการใช้คำพูดด้านลบกับตนเองเมื่อผิดพลาด 6.แวดล้อมตนเองด้วยคนรู้ใจและยอมรับในตัวเรา เพราะคนรอบข้าง ครอบครัว เพื่อน มีส่วนอย่างยิ่งในการสร้างเสริมความรู้สึก “เห็นคุณค่าในตัวเอง” ของเรา โดยควรใช้เวลากับคนกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มพลังบวกให้เรา และ 7.ฝึกเปิดใจยอมรับผู้อื่นอย่างที่เขาเป็น ซึ่งวิธีนี้จะช่วย สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้เรา โดยพร้อมที่จะสื่อสารความรู้สึกและความคิด นอกจากนั้นยังเป็นการ ขยายพื้นที่ความตระหนักในคุณค่าตัวเอง ได้อีกด้วย

เหล่านี้เป็นวิธี “เพิ่ม self esteem” ที่ “น่าลองฝึกฝน”

“เพิ่มพลังชีวิต” ทำได้โดย “สร้างคุณค่าให้ตนเอง”

“ไม่ด้อยค่าตัวเอง+ไม่ด้อยค่าผู้อื่น” นี่ “ดีแน่ ๆ”.