ซึ่งล่าสุดก็เกิดกรณีซ้ำรอยเมื่อหลายปีก่อน หลังมีคลิปปรากฏในสังคมโซเชียล “ผู้อาศัยคอนโดมิเนียมเกิดข้อพิพาทกับสถานที่ทางศาสนา” เป็นกระแส “ดราม่าเซ็งแซ่” ซึ่งกรณีนี้ก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ดี ในภาพรวม เรื่องเกี่ยวกับ “เสียง” นี่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ “ควรมีวิธีการที่เหมาะสมเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันโดยไม่กระทบกระทั่ง”

และเรื่อง “เสียง” ที่วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีข้อมูลอีกมุมมาสะท้อน ซึ่งเสียงที่คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รู้สึกรำคาญ โดยเฉพาะ “เสียงปกติ” ในชีวิตประจำวัน กับบางคนนั้นก็อาจทำให้รู้สึก “หงุดหงิดจนทนไม่ไหว” ซึ่งเป็นภาวะอย่างหนึ่ง…

ในทางการแพทย์นั้นมีชื่อเรียกภาวะดังกล่าวนี้…

ที่อาการเข้าข่าย “ภาวะมีโซโฟเนีย (Misophonia)”

หรืออาจเรียกอาการ-ภาวะนี้ว่า “โรคเกลียดเสียง”

ทั้งนี้ เกี่ยวกับ “โรคชื่อแปลก” ที่หลายคนได้ยินแล้วอาจแปลกใจระคนสงสัยว่า “โรคแบบนี้ก็มีด้วยหรือ??” นั้น สำหรับ “โรคเกลียดเสียง” นี้ ในเว็บไซต์ www.scimath.org โดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับภาวะนี้ไว้ว่า… ภาวะมีโซโฟเนีย (Misophonia) เป็นความผิดปกติที่มีความไวต่อเสียงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของผู้อื่น โดยเป็นเสียงที่คนทั่วไปไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ผู้ที่มีภาวะนี้จะตอบสนองด้วยความรู้สึกด้านลบ ซึ่งบางคนก็ใช้วิธี “หนีให้ไกลจากต้นตอเสียง” หรือบางคนก็แสดงออกผ่านอารมณ์ “โกรธเกรี้ยว”

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับ “มีโซโฟเนีย-โรคเกลียดเสียง” นี้ ปัจจุบันนี้ยังคงมีข้อมูลอยู่อย่างจำกัด แต่ก็ได้มีความพยายามที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ โดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ได้ศึกษาพบว่า… ผู้มีภาวะมีโซโฟเนียมักมีกลไกการทำงานของสมองส่วนหน้า (Frontal lobe) และสมองกลีบอินซูลาส่วนหน้า (Anterior insular cortex) ที่มีความผิดปกติ ซึ่งกลไกการทำงานของสมองส่วนนี้ จะเกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ โดยจะทำให้ มีความไวต่อการตอบสนองต่อเสียงที่เฉพาะเจาะจง หรือ “Trigger sound” ในระดับที่มากกว่าคนทั่วไป จึงทำให้ผู้ที่มีภาวะนี้…

“หงุดหงิด” เมื่อได้ยินเสียงที่ปกติสำหรับคนทั่วไป

อาจเกิดการ “โกรธเกรี้ยว” เพราะ “โรคเกลียดเสียง”  

ขณะที่ข้อมูลใน เว็บไซต์ของงานการพยาบาลผู้ป่วยนอกแผนกจิตเวช ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็ได้อธิบายเกี่ยวกับ “โรคเกลียดเสียง” นี้เอาไว้น่าสนใจเช่นกัน กล่าวคือ… จากสถิติแล้วนั้น ผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงมักจะเริ่มมีอาการในช่วงอายุ 9-13 ปี และส่วนใหญ่มักจะเกิดกับเด็กผู้หญิง ซึ่งภาวะอาการนั้นจะค่อย ๆ เป็นไปทีละน้อย จะเกิดขึ้นไม่เร็ว ดังนั้นจึงทำให้จับสังเกตอาการไม่ค่อยได้ในระยะแรก ๆ ทว่าเมื่ออาการเกิดถี่ขึ้น หรือเป็นบ่อยขึ้นในชีวิตประจำวัน จึงจะทราบว่าคน คนนั้นป่วยเป็นโรคเกลียดเสียง หรือมี “ภาวะมีโซโฟเนีย” เข้าให้แล้ว!!…

สำหรับ เสียงที่มักเป็นตัวกระตุ้น จนทำให้อาการแสดงออกมามากนั้น ก็ สามารถเกิดจากเสียงได้หลากหลายรูปแบบ เช่น…เสียงที่มาจากปาก, เสียงลมหายใจ, เสียงจากลำคอ, เสียงเคลื่อนไหวร่างกาย, เสียงเครื่องใช้หรืออุปกรณ์, เสียงเปิดภาชนะ, เสียงจากเครื่องปรับอากาศ, เสียงสัตว์, เสียงเด็กร้องไห้, เสียงดังจากทีวีหรือวิทยุ, เสียงพิมพ์คีย์บอร์ด, เสียงคลิกเมาส์, เสียงเปิดหนังสือ, เสียงโทรศัพท์ หรือแม้แต่เสียงในสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงฝน, เสียงน้ำไหล ก็อาจเป็นเสียงกระตุ้น โดยมักทำให้ผู้มีภาวะนี้เกิดการตอบสนองด้วยความรู้สึกด้านลบ หรือเกิดอารมณ์โกรธ…

แสดงอาการออกมาผ่านทางอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด

ทั้งนี้ อาการที่แสดงออกนั้น ก็มีข้อมูลส่วนที่ระบุไว้ว่า… ในผู้ป่วยที่เป็น “โรคเกลียดเสียง” ส่วนใหญ่เมื่อได้ยินเสียงบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ก็มักจะแสดงออกมาผ่านทางร่างกายหรือจิตใจ เช่น รู้สึกหงุดหงิด รู้สึกไม่สบาย รู้สึกรังเกียจเสียงที่ได้ยิน มากกว่าคนทั่วไป และนอกจากนั้น ในรายที่มีอาการค่อนข้างหนัก ก็ยังอาจเกิดอาการต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น อยากทำลายต้นตอของเสียง หรือ มีอาการแพนิค (Panic) อาทิ เหงื่อแตก หายใจไม่ออก ใจสั่น ไปจนถึงขั้นอาจมีความคิด อยากฆ่าตัวตาย หนีให้พ้นไปจากเสียงที่ได้ยินนั้น …เหล่านี้เป็น “อาการที่แสดงออกมา” ของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ ที่…

      หากมีอาการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะกระทบชีวิตมาก!!

      จำเป็นที่จะต้องปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข“

นอกจากนี้ ในแหล่งข้อมูลเดิมได้ให้คำแนะนำ “แนวทางรักษาโรคเกลียดเสียง” นี้เอาไว้ด้วยว่า… หากรู้สึกเกิดความผิดปกติมากขึ้น จนกระทบกับการใช้ชีวิต ก็ควรจะไปขอคำปรึกษากับจิตแพทย์ เพื่อหาทางรักษา ซึ่งทำได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ คือ…1.ด้วยการบำบัดจิต ที่ใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก โดยการพูดคุย ปรับทัศนคติ และฝึกฟังอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2.ด้วยการใช้ยา เพื่อช่วยให้ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ลดความวิตกกังวล ลดความเครียด เมื่อได้ยินเสียงไม่พึงประสงค์…

ทั้งหมดทั้งมวล ณ ที่นี้มิใช่จะชี้ว่าใครมีภาวะที่ว่านี้

ก็เป็นแต่เพียงสะท้อนว่า…มี “ภาวะมีโซโฟเนีย”…

“โรคเกลียดเสียง” โรคแปลกแบบนี้ก็มีด้วย!!.