รายได้จากการปลูกผักขายอาจจะไม่ได้เยอะ แต่กลับทำให้เรารู้สึกดีและภูมิใจมาก

…เจ้าของสวนผัก “เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน” บอกกับเราเรื่องนี้ ในวันที่เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยือนเธอที่สวนซึ่งกำลังเป็นแลนด์มาร์คใหม่ให้กับผู้คนที่ชื่นชอบผักสดปลอดสารพิษ โดยนอกจากเรื่องราวของสวนผักในเมืองแห่งนี้แล้ว กับเส้นทางชีวิตของเธอก็น่าสนใจเช่นกัน ซึ่งวันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” จะพาไปทำความรู้จัก สัมผัสเรื่องราววิถีชีวิตของผู้หญิงคนนี้… “แอน พรมศักดิ์”

การที่เราหันมาปลูกผักอย่างจริงจังและทำมาจนถึงทุกวันนี้ เริ่มจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการทำงานหนักจนไม่มีเวลาใส่ใจตัวเอง กินแต่อาหารไม่มีประโยชน์ ทำให้ต้องหันกลับมาดูแลสุขภาพ และปรับพฤติกรรมการกินของตัวเองอย่างจริงจัง โดยหันมาเน้นกินผักมากขึ้น และก็เริ่มปลูกผักไว้กินเอง จากสวนครัวในกระถางที่ปลูกบริเวณหน้าบ้านทาวน์เฮาส์…“ เสียงจาก แอน พรมศักดิ์ เจ้าของสวนผักในเมืองรายนี้เล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นเรื่องราวของเธอกับสวนผัก

พร้อมกันนี้เธอได้เล่าย้อนถึงเส้นทางช่วงวัยเด็กของตัวเองให้เราฟังว่า เธอเกิดและเติบโตที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งด้วยข้อจำกัดเรื่องฐานะทางบ้าน หลังจบ ป.6 เธอก็ต้องออกจากโรงเรียน และมุ่งหน้าสู่เมืองหลวงเพื่อหางานทำ เริ่มจากทำงานรับจ้างทั่วไป พอโตขึ้นมาหน่อยก็ไปเป็นสาวโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู โดยทำงานโรงงานได้ประมาณ 4 ปี เธอก็ได้แต่งงานกับสามี คือ “ตี๋-ไชยรัตน์ นิยมรัตน์ โดยหลังจากแต่งงานเธอและสามีก็ย้ายมาอาศัยอยู่ที่ซอยพหลโยธิน 55 และช่วยกันทำงานรับเหมาเกี่ยวกับเข็มเจาะ ทำฐานราก

ต่อมา หลังจากที่มี “ลูกสาว” คือ “น้องอันดา นิยมรัตน์” เธอก็ต้องหยุดทำงานเพื่ออยู่บ้านเลี้ยงลูก จนเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นมาหน่อย เธอก็ได้มาเซ้งร้านข้าวมันไก่ในซอยที่อาศัยอยู่ เพื่อช่วยสามีหารายได้อีกทางหนึ่ง

แอน เล่าต่อว่า แรก ๆ ที่ทำข้าวมันไก่ขาย เรียกว่าร้านแทบเจ๊ง แต่ด้วยความที่เป็นคนไม่ยอมแพ้ ก็เลยพยายามศึกษาพัฒนาปรับปรุงสูตรใหม่ ปรากฏว่าขายดีมากขึ้น จากนั้นเธอก็เพิ่มเมนูก๋วยเตี๋ยวเข้ามา ขณะที่ช่วงเย็นก็ขายเมนูข้าวเหนียวไก่ทอด แต่ก็ยังไม่พอ หลังจากที่ขายของไปได้ระยะหนึ่ง แอนมองว่าในซอยที่เธออาศัยอยู่นั้นอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ดูจะรายได้ดี เพราะในซอยมีหอพักและมีนักศึกษาอยู่เยอะ เธอก็เลยตัดสินใจขับวินมอเตอร์ไซค์ด้วยในช่วงที่ร้านหยุดหรือช่วงเย็นที่พอมีเวลาว่าง หรือหากไม่มีเวลาวิ่งวินเอง ก็จะปล่อยคิวให้คนอื่นเช่า โดยเธอบอกว่า จะไม่ยอมปล่อยทิ้งเวลาว่างไปเฉย ๆ อย่างเด็ดขาด   

กับคนที่เธอสุดรัก สามี และลูกสาว

ทีแรกแค่จะทำขายเป็นอาชีพเสริม แต่กลายเป็นว่าร้านข้าวมันไก่กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักให้เราเลย เพราะงานรับเหมาของแฟนก็เริ่มน้อยลง บวกกับมีปัญหาหลายอย่าง ที่สุดแฟนจึงเลิกทำงานรับเหมา แล้วมาช่วยเราค้าขายอย่างเต็มตัว“ แอนบอกเล่าถึงจุดเปลี่ยนชีวิตทางอาชีพของครอบครัวเธอ

อย่างไรก็ตาม แม้การค้าขายจะสร้างรายได้อย่างดีก็จริง แต่กลายเป็นว่าเรื่องของสุขภาพของเธอนั้นกลับเริ่มแย่ลง จากสาเหตุที่ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง เพราะตั้งแต่เปิดร้านจนถึงเก็บร้าน เธอแทบไม่มีเวลากิน กินก็ไม่ตรงเวลา กินแบบรีบ ๆ เอาที่ง่าย ๆ ให้อิ่มเพื่อจะได้มาขายของ สุดท้ายก็ทำให้เธอเป็นโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด และด้วยเหตุนี้จึงทำให้เธอหันกลับมาใส่ใจสุขภาพตัวเอง ปรับพฤติกรรมการกิน และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาทำสวนผักปลอดสารพิษ โดยศึกษาการปลูกผักจริงจัง จนขยับขยายกลายมาเป็นสวนผักของเธอเอง โดยเธอตั้งชื่อว่า “เกษตรสุขกลางกรุง ณ ทุ่งบางเขน”

ตอนนั้นหมอบอกว่าต้องกินยา แต่เราไม่อยากกินยา ก็เลยถามหมอว่าต้องทำยังไง หมอก็แนะนำในเรื่องของการควบคุมอาหาร เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หันมากินผักผลไม้ให้เยอะ ๆ แต่พอเราไปซื้อผักที่ตลาดมากินรู้สึกว่ารสชาติแปลก ๆ ทำให้เริ่มไม่มั่นใจว่าผักที่กินจะปลอดภัยจริงไหม ทำให้หันมาปลูกผักกินเอง ก็เลยเริ่มศึกษาการปลูกผักในกระถาง โดยใช้พื้นที่หน้าบ้านทาวน์เฮาส์ ที่ก็มีอยู่ไม่เยอะ ทีนี้พอศึกษาเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ ก็ต้องเรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยหมัก พอดีรู้ว่าลูกค้าประจำที่ร้านข้าวมันไก่คนหนึ่งเขาเลี้ยงไก่ แพะ ควาย และม้า อยู่ท้ายซอย เราก็ไปที่บ้านเขาเพื่อไปขอมูลสัตว์มาทำปุ๋ยหมัก ก็เลยได้มาเห็นว่าท้ายซอยที่อยู่มา 10 กว่าปี มันมีพื้นที่ดูเป็นธรรมชาติอยู่ด้วย“

แอน กับผลิตผลจากสิ่งที่เธอรักที่จะทำ

เธอเล่าอีกว่า พอได้เห็นที่ดินผืนนี้ เธอก็ตกหลุมรักทันที เพราะมีบรรยากาศเหมือนตอนอยู่บ้านนอก ทำให้นึกถึงบรรยากาศตอนเป็นเด็ก หลังจากวันนั้นถ้าหากมีเวลาหรือวันหยุดเธอกับสามีก็มักจะพาลูกเข้าไปอยู่ที่บ้านของพี่ที่เลี้ยงสัตว์ท้ายซอยคนนี้ บางทีก็ไปพูดคุย บางครั้งก็ไปปิ้งย่างทำอาหารกิน ไปช่วยเขาเลี้ยงสัตว์ พาลูกไปปลูกผัก จนเริ่มไม่อยากจะกลับมาอยู่ที่บ้านเลย

จนวันหนึ่ง พี่คนนั้นได้บอกว่า ที่ดินที่อยู่ตรงข้ามกับที่ดินของพี่คนนี้รอขายอยู่ และระหว่างรอขายก็ปล่อยให้เช่า พอรู้เรื่องนี้ เธอกับสามีก็ไปติดต่อขอเช่าทันที โดยเป็นการเช่าแบบปีต่อปี ซึ่งตอนนั้นเธอไม่ได้คิดกังวลเลยว่าหากวันหนึ่งเจ้าของที่ดินขายที่ได้เธอก็ต้องย้ายออก

ตอนที่ตกลงเช่าที่ ก็มีคนมาพูดว่าเราบ้า เพราะหากเจ้าของขายที่ดินได้ เราก็ต้องย้ายออก อีกอย่างที่ตรงนี้ หากฝนตกหนักน้ำก็ท่วมด้วย แต่เราไม่สนใจ เพราะด้วยความอยากทำ บอกตรง ๆ จังหวะนั้นรู้สึกเริ่มเบื่อกับชีวิตที่ต้องเร่งรีบจนไม่มีเวลาพักผ่อนแล้ว ซึ่งการค้าขายอาจเป็นอาชีพที่ทำให้เรามีรายได้ดีก็จริง แต่พอลองบวกลบคูณหารแล้ว กลับพบว่าเราขาดทุนด้านสุขภาพกายสุขภาพจิตมากกว่า“ แอนเล่าถึงเรื่องที่เป็นอีกจุดที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินหน้าลุยโปรเจคท์นี้

แล้วพอสัญญาเช่าที่ผืนนี้ผ่าน เธอกับสามีก็เริ่มพลิกที่รกร้างให้เป็น “สวนผักกลางเมืองในฝันของเธอ” และหันมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว โดยเธอได้ขออนุญาตเจ้าของที่เพื่อปรับพื้นที่ ขุดสระน้ำไว้กักเก็บน้ำฝน และขอปลูกกระต๊อบเล็ก ๆ อีก 1 หลังเพื่อไว้สำหรับอยู่อาศัย ซึ่งเจ้าของที่ก็ใจดีและสนับสนุนเต็มที่ หลังจากปรับพื้นที่และปลูกกระต๊อบเสร็จ เธอกับสามีก็พาลูกย้ายเข้ามาอยู่ในทันที ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว

ตอนมาอยู่แรก ๆ ก็ต้องออกไปดูร้านข้าวมันไก่ด้วย แต่ตอนหลังตัดสินใจยกร้านให้น้องชายกับน้องสะใภ้เอาไปดูแล เพราะไม่อยากออกไปจากสวนแล้ว ซึ่งผักที่ปลูกได้ หลัก ๆ จะไว้กินเอง ส่วนถ้าเหลือก็เก็บใส่ถุงไปขายที่ร้านข้าวมันไก่ ซึ่งกลายเป็นว่าการที่ขายผักที่เราปลูกเองได้ 20-30 บาท ทำให้เรารู้สึกดีมากกว่าขายข้าวมันไก่อีก“

หลังจากนั้นแอนก็เลยคุยกับสามีว่าอยากจะปลูกผักขายแบบจริงจัง โดยช่วยกันทำ 2 คน จากนั้นก็ขยับขยายแปลงผักมาเรื่อย ๆ จากปลูกผักสวนครัว ก็มาปลูกผักกินสด และผักสลัดหลายชนิด จากนั้นก็มาทำเพจเฟซบุ๊กและยูทูบเพื่อให้คนรู้จักและเป็นช่องทางให้ความรู้กับคนอื่น ๆ จนสวนของเธอเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีคนสอบถามเข้ามาว่า อยากให้เปิดคอร์สสอนปลูกผัก เธอเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีก็เลยจัดอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ขึ้นมาตั้งแต่ตอนนั้น ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็มีคนมาเรียนกับเธอแล้วกว่า 50 รุ่น รวม ๆ แล้วก็มีคนที่เธอให้ความรู้ไปแล้วมากกว่า 1,000 คน

กระต๊อบเกษตรสุขกลางกรุง

ตอนช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก ยิ่งมีคนมาขอลงเรียนปลูกผักเยอะมาก เพราะตอนนั้นคนต้องกักตัวอยู่บ้าน จึงอยากที่จะปลูกผักเอาไว้กินเอง ซึ่งคนที่มาเรียนปลูกผักกับเราก็มีหลากหลายอาชีพมาก ส่วนใหญ่ที่มาเรียนเพราะเขาก็อยากปลูกผักกินเอง และส่วนหนึ่งก็อยากปลูกขายทำเป็นอาชีพเสริมด้วย แอนเล่าให้ฟังเรื่องนี้ พร้อมรอยยิ้มอย่างภูมิใจ ที่จากคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านการทำเกษตรมาก่อน แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตก็พลิกผันกลายมาเป็น “ผู้ให้ความรู้ด้านเกษตร” กับคนอื่น ๆ ได้

ทั้งหมดนี้ เธอย้ำว่า เกิดจากคำ 2 คำ นั่นคือคำว่า “พยายาม” และคำว่า “ไม่ยอมแพ้” นั่นเอง

ก่อนจากกันวันนั้น แอน พรมศักดิ์ เจ้าของสวนผักกลางเมืองคนเดิม บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า เธออาจจะไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุด แต่ก็พร้อมที่จะแชร์ความรู้ให้กับคนอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือ และเพื่อให้เดินไปด้วยกัน ซึ่งทุกครั้งที่ได้สอนให้คนอื่นสามารถนำความรู้ที่เธอมอบให้กลับไปทำได้สำเร็จ เธอมีความสุขมาก ๆ อย่างไรก็ดี เหนือสิ่งอื่นใดที่เธออยากขอบคุณมากที่สุดก็คือ “สามี” ที่เป็นคนที่คอยสนับสนุนและพร้อมเดินไปกับเธอด้วยกันตลอด… เราถือว่าตัวเราโชคดีมากที่สุด ที่สามีเรามีความชอบและความคิดเป็นไปในทิศทางเดียวกับเรา แถมสนับสนุนทุกก้าวที่เราจะเดินไปตลอด จนถึงกับต้องบอกตัวเองเลยว่า…

ไม่มีเขา…ไม่มีเราวันนี้“

‘ความกล้า’ คือ ‘คาถาความสำเร็จ’

แอน พรมศักดิ์ เธอเล่าด้วยว่า เป้าหมายตอนนี้ไม่ได้มีอะไรมาก แค่ก็คุยกับสามีไว้ว่าหากอายุมากขึ้นก็อยากมีที่ดินไว้ปลูกป่าใช้ชีวิตที่สงบ ไม่ได้คิดที่จะสร้างให้ใหญ่โตไปกว่านี้แล้ว เพราะถ้าทำเยอะเกินไปก็จะเข้าไปอยู่ในลูปเดิม ๆ ที่เคยหนีออกมา ส่วนที่หลายคนชอบบอกว่า “เธอบ้ามาก” ที่กล้าลงทุนปลูกผักในเมืองแบบนี้ เธอเองคิดว่า ถ้าหากเธอไม่กล้าลงมือทำตอนนั้น ก็คงไม่มีวันนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น สำหรับคนที่มาขอคำแนะนำ เธอก็จะบอกว่า อันดับแรกเลยคือ ควรเริ่มจากศึกษาหาความรู้ และเมื่อคิดว่าอยากทำจริง ๆ แล้ว ก็ต้องกล้าเริ่มลงมือทำเลย แล้วประสบการณ์จะสอนเราเอง ว่าอะไรใช่ หรืออะไรไม่ใช่

กล้าที่จะทำก่อน ขออย่าไปกลัวปัญหา และอย่าไปคิดว่า ปลูกแล้วไม่รอด ปลูกแล้วตาย อย่าพูดอย่าคิดกับตัวเองแบบนั้น ให้คิดว่าที่ปลูกไม่ได้ เพราะยังพยายามไม่พอ อย่างเราเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานเลย แต่อาศัยใจสู้ ไม่ท้อ ก็เลยมาได้จนถึงวันนี้“.

บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน