นพ.บัญชา พงษ์พานิช ผอ.สถาบันสุวรรณภูมิศึกษา วิทยาสถานด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชชา) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในการวิจยเสวนา ครั้งที่ 1 เรื่อง เส้นทางอารยธรรมสุวรรณภูมิและร่องรอยภูมิหลังทวารวดี จัดโดยหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา วิทยาลัยสงฆ์พุทธปัญญาศรีทวารวดี มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ร่วมกับสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา ว่า การศึกษาถึงการมีอยู่ของดินแดนสุวรรณภูมินั้น ตนได้ทบทวนเอกสารทั้งของไทย และนานาชาติ ที่เคยมีการศึกษาไว้ โดยพบว่าเมื่อประมาณกว่า 100 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัย ร.4 ที่ทรงเคยศึกษาไว้ และนานานักวิชาการไทยทำกันมา เห็นว่าสุวรรณภูมิมีจริง อยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างอินเดียกับจีน แยกเป็น 2 ศูนย์ คือ ด้านการค้า และด้านพระพุทธศาสนา แต่ยังขาดหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดเจน ขณะที่การศึกษาของต่างประเทศสรุปว่า เชื่อได้ว่าดินแดนสุวรรณภูมิมีเมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว อยู่ในยุคแรกแริ่มประวัติศาสตร์ มีการค้าเป็นปัจจัยหลัก และพระพุทธศาสนามีบทบาทมาก ทั้งมีการขุดค้นทางโบราณคดีพบหลักฐานเพิ่มขึ้นมากในเมียนมาร์ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินเดีย และจีน พบหลักฐานที่เก่าแก่ถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 2 ที่อาจบ่งบอกถึงดินแดนสุวรรณภูมิได้

นพ.บัญชา กล่าวต่อไปว่า ต่อมาเมื่อปี 2561 ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จีสด้า ได้รวบรวมข้อมูลล่าสุดจากนักวิชาการต่างๆ พบข้อมูลหลักฐานสนับสนุนที่ระบุว่าพบดินแดนสุวรรณภูมิในพื้นที่ 1.บริเวณคอคอดกระและตอนบนของคาบสมุทรไทยและตะวันตกของอ่าวไทย 2.ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมาเลเซีย 3.ทางตอนใต้ของเมียนมาและตะวันตกของไทย 4.บริเวณปากแม่น้ำโขงในกัมพูชาและเวียดนาม เชื่อมลุ่มน้ำบางปะกง เจ้าพระยา และป่าสัก 5.บริเวณอ่าวเมาะตะมะ ถึงลุ่มน้ำชีข้ามออกตอนกลางของเวียดนามแถบดานัง-เว้ โดยได้มีการค้นพบโบราณวัตถุสำคัญจำนวนมาก เช่น ลูกปัดโบราณ วงแหวนเมารยะ (ราชวงศ์โบราณของอินเดีย) ซึ่งในโลกพบเพียง 30 ชิ้น ทั้งหมดพบในอินเดีย มีเพียงชิ้นเดียวที่พบในประเทศไทย ในพื้นที่ จ.ชุมพร เมื่อปี 2560 ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญของโลก ทั้งยังพบโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นจากยุคอินเดียโบราณ เช่น เงินตรากหาปนะ ผอบพระบรมสารีริกธาตุ รวมไปถึงโบราณวัตถุที่มีการสลักรูปนักรบโรมัน จักรพรรดิ, กษัตริย์ในยุคโรมัน จึงเกิดเป็นประเด็นคำถามว่ามาพบในพื้นที่ประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งจำเป็นจะต้องศึกษาค้นคว้าต่อไป ทั้งนี้จากข้อมูลหลักฐานการค้นพบดังกล่าว นำไปสู่การจัดตั้งสถาบันสุวรรณภูมิศึกษา โดยจะศึกษาและร่วมมือกับประเทศในแถบอาเซียน เพื่อเดินหน้าศึกษาว่าด้วยถึงที่ตั้งของดินแดนสุวรรณภูมิที่แท้จริงต่อไป โดยมุ่งการเชื่อมโยงจากอดีตผ่านปัจจุบันสู่อนาคต ครอบคลุมอาณาบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงย่านอ่าวเบงกอลและอ่าวตังเกี๋ย ท่ามกลางความท้าทายใหม่ๆ ของโลก ทั้งในมิติการสร้างสรรค์พัฒนาองค์ความรู้และคลังฐานข้อมูลความรู้ เสริมสร้างแวดวงวิชาการ ตลอดจนการนำมาสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติและภูมิภาคไปด้วยกัน