แม้จะอยู่ห่างจากความวุ่นวายทางการเมือง ที่ดาวนิงสตรีท ศูนย์กลางอำนาจบริหาร ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร เป็นระยะทางเกือบครึ่งโลก แต่ชาวอินเดียจำนวนมากกำลังติดตามความปั่นป่วนและการพลิกผันของรัฐบาลสหราชอาณาจักร อย่างใกล้ชิด ด้วยความสงสัยถึงคนที่จะเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ แทนนายกรัฐมนตรีแทนนายบอริส จอห์นสัน และผู้ชนะจะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลสหราชอาณาจักรโดยอัตโนมัติ เนื่องจากในบรรดาผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งทั้งหมดนั้น มี 2 คน ซึ่งสืบทอดเชื้อสายจากบรรพบุรุษในอินเดีย

นายริชิ ซูนัค อดีต รมว.การคลังอังกฤษ และนางซูเอลลา บราเวอร์แมน อัยการสูงสุดของอังกฤษ ต่างกำลังรณรงค์หาเสียงเพื่อคว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และแสดงถึงโอกาสที่สหราชอาณาจักรมอบให้แก่สมาชิกของ “ชนกลุ่มน้อยในประเทศ” อย่างพวกเขา แต่ไม่ว่าใครคนใดคนหนึ่งจะได้รับชัยชนะ บุคคลนั้นจะขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีเชื้อสายอินเดีย

“มันจะเป็นความรู้สึกที่เยี่ยมมาก หากได้เห็นชาวอินเดียขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศที่เคยปกครองอินเดียอย่างเหี้ยมโหดมาเป็นเวลานาน!” ผู้ใช้ทวิตเตอร์ในชื่อ “Emon Mukherjee” ทวีตข้อความ

ขณะที่นายอนันด์ มหินทรา นักอุตสาหกรรมชั้นนำชาวอินเดีย เข้าร่วมกระแสการตอบสนองบนสื่อสังคมออนไลน์ ถึงความเป็นไปได้ของนายกรัฐมนตรีซึ่งมีเชื้อสานอินเดียคนแรกของสหราชอาณาจักร ด้วยเช่นกัน โดยการแชร์ภาพถ่ายของบ้านเลขที่ 10 บนถนนดาวนิง ซึ่งก็คือ “บ้านพักของนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร” นั่นเอง

แม้ซูนัคเป็นบุตรเขยของนางนารายนะ มูร์ธี นักธุรกิจพันล้านชาวอินเดีย และผู้ก่อตั้งบริษัทอินโฟซิส แต่ความเกี่ยวข้องนั้นกลับส่งผลกระทบต่อความนิยมของเขาในสหราชอาณาจักร หลังจากที่นางอัคชาตา มูร์ธี บุตรสาวของนางนารายนะ ซึ่งเป็นภริยาของเขา มีข่าวฉาวเรื่องการเลี่ยงภาษีผ่านสถานะที่เรียกกว่า “ผู้อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ภูมิลำเนา” (non-domiciled) ของเธอ ทำให้เธอไม่ต้องจ่ายภาษีในส่วนที่เป็นรายได้จากต่างประเทศ ให้กับรัฐบาลสหราชอาณาจักร

NDTV

ขณะที่บราเวอร์แมน เพื่อนร่วมงานของซูนัค ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของอังกฤษนั้น เกิดในครอบครัวชาวคริสต์ที่มีบรรพบุรุษเป็นคนอินเดีย โดยครอบครัวของเธอย้ายถิ่นฐานจากเคนยา และมอริเชียส มาตั้งรกรากในสหราชอาณาจักรเมื่อยุคทศวรรษที่ 1960 จากเคนยา โดยไม่มีอะไรติดมือมาเลย หรือเรียกได้ว่า “เสื่อผืนหมอนใบ”

“สหราชอาณาจักรให้ความหวัง ความปลอดภัย และโอกาสกับพวกเขา อีกทั้งประเทศนี้ยังมอบโอกาสอันน่าเหลือเชื่อมากมายให้กับฉัน ทั้งการศึกษาและอาชีพ ฉันรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อประเทศนี้” บราเวอร์แมน กล่าวระหว่างการปราศรัยครั้งหนึ่ง

ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร อย่างไรด็ตาม การที่มีผู้สมัครชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียรวมอยู่ด้วยถึง 2 คน ได้ทำให้คนอินเดียติดตามสถานการณ์การเมืองของสหราชอาณาจักร ด้วยความกระตือรือร้นและใกล้ชิดอย่างมากเลยทีเดียว.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS