อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่าปัจจัยที่ทำให้ “โควิดกลับมาระบาดมาก” นั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากประชาชน “การ์ดเริ่มตก” หลังไทยผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด ซึ่งนี่ก็ทำให้ผู้เชี่ยวชาญ นักระบาดวิทยา กลับมารู้สึกกังวลมากขึ้นเรื่อย ๆ กับ “ตัวเลขผู้ติดโควิดรายใหม่” ที่เป็นคนละตัวเลขกับตัวเลขที่มีการประกาศ…

มีการ “กังวลตัวเลขจริง-กังวลสถานการณ์จริง”…

และ “กังวลว่าจะมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้”

ในการ “วางแผนรับมือโควิดระบาดหนักรอบใหม่”

ทั้งนี้ ว่าด้วย “ข้อมูลสถานการณ์โควิด” ส่วนสำคัญนั้นก็จะได้จากรายงานการ “ค้นหาเชื้อโควิด” ทั้งจากการ “ตรวจ RT-PCR” และ “ตรวจ ATK” ที่เป็นการตรวจด้วยตัวประชาชนเอง…ซึ่งก็มีกระแสว่ามีส่วนที่เมื่อตรวจพบว่าติดโควิดแล้วไม่ได้เข้ารักษาตามระบบ?? อย่างไรก็ตาม กับการจะได้มาซึ่ง “ข้อมูลเพื่อการกำหนดมาตรการคุมโควิด” ในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น ก็ยังมีอีกหนึ่งวิธีในการ “ค้นหาเชื้อ” ซึ่งย้อนไปในช่วงที่โควิดสายพันธุ์ดั้งเดิมและสายพันธุ์เดลตากำลังระบาดรุนแรง ในไทยก็เคยมีการเสนอใช้ นั่นคือวิธี “ตรวจเชื้อโควิดจากน้ำเสีย” สำหรับ “สำรวจความชุกของเชื้อ” ในบางพื้นที่ เพื่อที่จะได้ข้อมูลนำมาใช้ “พยากรณ์ความเสี่ยงการระบาด” ซึ่งในต่างประเทศ ในบางประเทศก็มีการนำวิธี “ตรวจน้ำเสียเพื่อค้นหาโควิด” มาใช้งาน

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” พลิกแฟ้มกรณีการ “ตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสีย” มานำเสนอในวันนี้ อันเป็นวิธีค้นหาเชื้อโควิดที่ก็เคยถูกหยิบยก ถูกพูดถึงอย่างมาก ในช่วงการระบาดระลอกที่ผ่าน ๆ มา ซึ่งวิธีนี้ก็มี “จุดเด่น-ข้อดี” ไม่น้อย โดยเกี่ยวกับการตรวจค้นหาเชื้อโควิดด้วยวิธีการดังกล่าวนี้ทาง ดร.จุฑาทิพ บุญสมบัติ นักวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และโครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ภายใต้การสนับสนุนจาก สกสว. ก็ได้เคยสะท้อนไว้ ซึ่งหลักใหญ่ใจความนั้นมีว่า… วิธีนี้ถ้าสามารถพัฒนาการทดสอบให้ใช้งานได้ง่ายและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นก็น่าจะ “มีประโยชน์มาก”

สามารถ “ใช้เพื่อมาตรการระยะยาว” ในประเทศไทย

ในการ “เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินการระบาด”

นักวิจัยโครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกด้านเชื้อโควิด-19 ท่านนี้ได้มีการระบุเกี่ยวกับการ “ตรวจน้ำเสียเพื่อค้นหาเชื้อโควิด” ไว้อีกว่า… การ ประเมินการระบาดของเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียครัวเรือน เป็นวิธีการที่นักวิจัยกว่า 12 กลุ่มทั่วโลกได้ให้ความสนใจศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อ ใช้ประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชน ซึ่งการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะดำเนินการติดตามเชื้อโรคที่ถูกขับออกมา เช่นออกมาในปัสสาวะหรืออุจจาระ ผ่านทาง “น้ำเสียจากระบบระบายน้ำจากครัวเรือน” ซึ่งนี่ก็จะทำให้สามารถประมาณการการระบาดของเชื้อในชุมชนได้ สามารถวิเคราะห์การแพร่กระจายของไวรัสได้…

ทั้งกับคนที่มีการตรวจเชื้อ และคนที่ไม่ได้ตรวจเชื้อ

โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการ

ทาง ดร.จุฑาทิพ สะท้อนไว้ว่า… จากตัวอย่างการศึกษาของกลุ่มนักวิจัยประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่นำวิธีการนี้มาใช้ พบว่า… ตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียสนามบิน ในเวลาเพียง 4 วันหลังมีการยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกจากวิธีตรวจเชื้อทางคลินิก ซึ่งจริง ๆ การตรวจหาเชื้อโรควิธีนี้ก็ไม่ได้เป็นวิธีใหม่ โดยนักวิจัยไทยท่านเดิมให้ข้อมูลไว้ว่า… วิธีนี้ใช้มานานกว่า 10 ปีแล้ว เคยถูกใช้ประเมินผลความสำเร็จของการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ และเคยใช้ตรวจหาเชื้อชนิดอื่น ๆ เช่น โนโรไวรัสที่ทำให้ท้องเสีย แบคทีเรียดื้อยา เชื้อไวรัสหัด  …นี่เป็นข้อมูล “วิธีตรวจเชื้อจากน้ำเสีย” ที่ก่อนมีโควิดก็เคยถูกใช้ตรวจหาเชื้ออื่น ๆ

สำหรับ “การประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อในแต่ละชุมชนจากข้อมูลที่ได้จากตัวอย่างน้ำเสีย” นั้น ทางหัวหน้าโครงการสนับสนุนข้อมูลวิจัยเชิงลึกฯ อธิบายไว้ว่า… วิธีการนี้ทางนักวิจัยต้องหาว่ามีจำนวน RNA ไวรัสเท่าไหร่ที่ถูกขับออกมาในสิ่งปฏิกูล จากนั้นจึง ประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อในชุมชนโดยสังเกตจากความเข้มข้นของ RNA ของไวรัสที่มีอยู่ในน้ำเสีย

ทั้งนี้ กับ “จุดเด่น-ข้อดี” ของวิธีการดังกล่าวนี้ มีการระบุไว้ว่า… เนื่องจาก เชื้อไวรัสโควิด-19 จะปรากฏในอุจจาระภายใน 3 วันหลังติดเชื้อ ซึ่งเป็นเวลาที่เร็วกว่าเวลาที่ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการเข้าข่ายต้องสงสัย แล้วไปรับการตรวจหาเชื้อทางคลินิก ดังนั้น การเฝ้าติดตามโควิด-19 ด้วยการวิเคราะห์น้ำเสียจากชุมชนจึงเป็นวิธีที่สามารถจะช่วยบ่งชี้สถานการณ์ได้เร็ว ที่จะช่วยทำให้มีข้อมูลเพื่อการออกมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น…

นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงก่อนที่จะมีโควิดสายพันธุ์โอมิครอนระบาด หรือก่อนที่ประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด ทาง ดร.จุฑาทิพ บุญสมบัติ ยังได้มีการเน้นย้ำไว้ถึง “ความสำคัญ” ของการ “ตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากน้ำเสียครัวเรือน” โดยระบุไว้ว่า… วิธีนี้จะช่วยลดการระบาดของโควิด-19 ได้มาก โดยเฉพาะเมื่อมาตรการ social distance ลดระดับความเข้มงวดลง …ทั้งนี้ การติดตามการระบาดของโควิด-19 ด้วยการวิเคราะห์น้ำเสียนี้ นี่ยิ่งถือเป็นวิธีที่ดีอีกแนวทางหนึ่งในตอนนี้…

การ์ดสกัดโควิด” ปัจจุบันในไทย “เริ่มหลวม-เริ่มต่ำ”

เริ่มต่ำ-เริ่มหลวม “รวมถึงกับการตรวจหาเชื้อโควิด”

ตรวจจากน้ำเสีย” วิธีนี้ “อาจจะช่วยฟื้นฟูการ์ด”.