นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส ร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที พัฒนาแอพพลิเคชั่น DE Covidhomecare Solution เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการผู้ป่วยโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการตอกย้ำบทบาทของกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย ให้ก้าวผ่านวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ทำงานร่วมกับแพทย์จิตอาสา พัฒนาระบบแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดกลุ่มกักตัวที่บ้าน ให้สามารถเข้าถึงการรักษาผ่านการประยุกต์ใช้ Line official account เข้ากับ Zoom เพื่อใช้ Video Call ติดต่อสื่อสาร และรับคำแนะนำในการดูแลรักษาได้แบบเห็นหน้ากัน ผ่านจอมือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ เป็นการให้บริการระบบสาธาณสุขที่สอดรับกับมาตรการ social distancing อีกด้วย

“วันนี้ก็อย่างที่เราทราบกันว่าคนไข้เยอะมาก บางทีมันโหลดเกินไปสำหรับคุณหมอ เราก็เลยพัฒนาแอพนี้ขึ้นมาให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางสนับสนุนงานด้านสาธารณสุข สำหรับผู้ป่วยกลุ่มรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation เพื่อจะช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 และสามารถรักษาตัวเองที่บ้านได้ ก็จะมีการติดต่อคุณหมออยู่ตลอดทุกวัน และที่สำคัญก็จะมียา มีการช่วยเหลือเบื้องต้นแต่ถ้าผู้ป่วยอาการหนัก เช่น จำเป็นจะต้องไปโรงพยาบาล ก็จะติดต่อประสานให้ เพื่อบริหารจัดการการใช้เตียงให้เกิดประโยชน์ที่สุด” นายชัยวุฒิกล่าว

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อเข้ามาเพื่อขอใช้บริการแล้ว  และวานนี้ (3 ส.ค.) ตนได้ลงพื้นที่กับคุณหมอเพื่อสำรวจการใช้งานว่าติดขัดหรือไม่ และต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกบ้าง รวมทั้งได้รับเสียงตอบรับว่าการที่กระทรวงฯ และเอ็นที ช่วยพัฒนาระบบนี้ เป็นประโยชน์อย่างมาก

ด้านนาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที)  กล่าวว่า เอ็นที ยินดีที่ได้เข้ามาร่วมพัฒนา DE Covidhomecare Solution  และได้มีส่วนช่วยประชาชนในสถานการณ์โควิด ที่ทุกคนต้องช่วยกันผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ ปัจจุบันได้จัดตั้งไลน์กลางสำหรับระบบนี้ไว้ที่บัญชีไลน์ทางการชื่อ Covid Home Care

ขณะที่ น.พ.ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและโภชนวิทยาคลินิก กล่าวว่า ระบบช่วยบริหารจัดการผู้ป่วย ที่พัฒนาขึ้นมาครั้งนี้ เป็นประโยชน์อย่างมากในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ป่วยที่อาจไม่ต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล หรือไปศูนย์พักคอยต่างๆ  อีกทั้งช่วยแบ่งเบาภารกิจของแพทย์ สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ