จากเหตุการณ์ชายว่างงานวัย 41 ปี ก่อเหตุลอบยิงสังหาร อดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ในระยะเผาขน ระหว่างอดีตผู้นำญี่ปุ่นปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครของพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่เมืองนารา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ผ่านมา และอาเบะถึงแก่อสัญกรรม ขณะมีอายุ 67 ปี สิ่งนี้ได้สร้างคำถามมากมายเกี่ยวกับ มาตรฐานการคุ้มครองบุคคลสำคัญ แม้ในประเทศที่ความรุนแรงทางการเมือง และอาชญากรรมจากอาวุธปืน ล้วนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมาก

บุคคลระดับสูงในญี่ปุ่น มักจะเดินทางพร้อมกับเจ้าหน้าที่อารักขาชุดหนึ่ง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การป้องกันการปะทะทางร่างกายโดยตรง มากกว่าการคุ้มกันของเจ้าหน้าที่ติดอาวุธหนัก ที่คอยรับมือการจู่โจมจากอาวุธปืน ดังเช่นในสหรัฐ

Reuters

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจจังหวัดนารา ซึ่งเป็นเจ้าของท้องที่ ยอมรับว่า คำขอการรักษาความปลอดภัย “เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน” และกำลังตรวจสอบเป็นการภายใน ถึงความเพียงพอของการรักษาความปลอดภัย รวมถึงความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน โดยในวันเกิดเหตุ อาเบะได้รับการคุ้มกันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้อาวุธเพียงนายเดียว ส่วนที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีหลายคนแสดงความเห็นว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ควรมีความรัดกุมมากกว่านี้ อีกทั้งการคุ้มครองบุคคลสำคัญควร “ครอบคลุมในทุกทิศทาง”

ขณะที่ ศ.พอล นาโด ผู้ทรงวุฒิคุณจากมหาวิทยาลัยเทมเปิลแห่งญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว และเคยทำงานให้กับสมาชิกพรรคแอลดีพีและเคยร่วมงานกับอาเบะ กล่าวว่า การปราศรัยหาเสียงของอาเบะที่เมืองนารา คือ “กิจกรรมที่มีความใกล้ชิดอย่างมาก”

“สาธารณชนอยู่อย่างใกล้ชิด พวกเขามักจะอยู่เต็มลานกว้างหน้าสถานีรถไฟ” นาโด กล่าวเพิ่มเติม “และคุณจะไม่รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย อันตราย หรืออะไรทำนองนั้นเลย”

นอกจากนี้ การที่อาเบะ ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น คือ 8 ปีกับอีก 8 เดือน และถือเป็นหนึ่งในนักการเมืองทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองด้วยตัวเองหลายครั้ง เป็นการดึงดูดประชาชนกลุ่มใหญ่เข้ามาด้วย

อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากพรรครัฐบาลคนหนึ่งกล่าวว่า แม้อาเบะจะเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ แต่ระดับการรักษาความปลอดภัยที่เขาได้รับ ดูเหมือนจะลดลง นับตั้งแต่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อปี 2563

ด้านนายแกรนต์ นิวส์แฮม นาวิกโยธินนอกราชการของสหรัฐ และอดีตนักการทูตที่สถาบันศึกษายุทธาศาสตร์แห่งญี่ปุ่น (เจเอฟเอสเอส) คาดหวังว่า หลังจากเหตุการณ์การลอบสังหารครั้งนี้ ญี่ปุ่นจะมีความรอบคอบและการคุ้มครองที่แน่นหนามากขึ้น สำหรับนักการเมืองระดับสูงและอาวุโสในประเทศ

“จะมีคำถามมากมายเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย และมันชัดเจนมากว่า สิ่งนี้จะรัดกุมมากขึ้น สำหรับนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ” นายโรเบิร์ต วอร์ด นักวิชาการอาวุโสด้านการศึกษาความปลอดภัยญี่ปุ่น ที่สถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ (ไอไอเอสเอส) ในกรุงลอนดอน กล่าวเสริม.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS