เส้นทางการเมืองของโกตาพญาเริ่มต้นเมื่อพี่ชายของเขา นายมหินทา ราชปักษา ขึ้นเป็นประธานาธิบดีศรีลังกาเมื่อปี 2548 แล้วแต่งตั้งโกตาพญาให้ดำรงตำแหน่ง รมว.กลาโหม และมอบหมายให้เขากำกับการยุติสงครามระหว่างกองทัพศรีลังกา กับขบวนการปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (แอลทีทีอี) กลุ่มกองโจรที่ต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนทางตอนเหนือของประเทศ

แม้โกตาพญาถือเป็น “วีรบุรุษสงคราม” ในมุมมองประชากรส่วนใหญ่ของศรีลังกาที่เป็นชาวสิงหล แต่คนอื่นกลับกล่าวหาว่า เขาเป็น “อาชญากรสงคราม” ซึ่งมีส่วนต่อการฆ่าฟัน การทรมาน และการหายตัวไปของนักวิจารณ์รัฐบาลหมายคน อย่างไรก็ตาม โกตาพญาให้การปฏิเสธต่อทุกข้อกล่าวหาเสมอมา

โกตาพญาเคยลงจากอำนาจมาแล้วครั้งหนึ่ง ในปี 2558 เมื่อมหินทาสูญเสียอำนาจ แต่ตระกูลราชปักษากลับมาเป็นจุดสนใจทางการเมืองอีกครั้ง หลังเหตุลอบวางระเบิดวันอีสเตอร์ เมื่อปี 2562 และด้วยการที่มหินทาติดข้อจำกัดในรัฐธรรมนูญ ที่ห้ามมิให้ประธานาธิบดีอยู่ในตำแหน่งเกินสองสมัย จึงทำให้เหลือเพียงโกตาพญา ที่เป็นตัวแทนของตระกูลราชปักษา และพรรคศรีลังกา โปดูจานา เปรามูนา

Reuters

ในเดือน ส.ค. 2563 โกตาพญานำพรรคชนะการเลือกตั้ง สามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาแห่งศรีลังกาได้เกิน 2 ใน 3 ส่งผลให้เขาสามารถยกเลิกกฎหมายจำกัดอำนาจประธานาธิบดี ซึ่งรวมถึงการดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย อีกทั้งเขายังแต่งตั้งพี่ชายขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และกระจายสมาชิกเครือญาติเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีต่าง ๆ ของประเทศ ตอกย้ำตระกูลราชปักษา ในฐานะครอบครัวทรงอิทธิพลทางการเมืองที่สุดของศรีลังกา นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2491

อย่างไรก็ตาม ความฝันของตระกูลราชปักษาในการกลับมาครองอำนาจรอบนี้ ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เมื่อเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของโกตาพญาสั่งระงับการนำเข้าปุ๋ยเคมี ส่งผลต่อกระทบอย่างหนักต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะการเพาะปลูกชา แม้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว แต่กลับยังไม่สามารถนำเข้าปุ๋ยเพิ่มเติมได้มากพอ

ผลกระทบสืบเนื่องต่อมา คือขาดแคลนสิ่งของจำเป็นและภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยสถิติมากกว่า 54% ส่งผลให้เกิดการลุกฮือครั้งใหญ่ของชาวศรีลังกา ทั้งที่เป็นการปะทะกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐ และการปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น ความรุนแรงที่เกิดขึ้น นำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของมหินทา เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมา ปล่อยให้โกตาพญา น้องชายของตนเอง พยายามยื้อสถานการณ์ต่อไป ในฐานะ “ตัวแทน” ของตระกูลราชปักษา แต่ท้ายที่สุดแล้ว สัจธรรมสอนให้รู้ว่า “ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS