นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ได้ทำการศึกษาแนวโน้มตลาดสินค้า โดยพบว่ากระแสแฟชั่นหมุนเวียนและสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง โดยเห็นได้จากในวงการแฟชั่นเริ่มเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจ เช่น ธุรกิจให้เช่าเสื้อผ้า ธุรกิจขายเสื้อผ้ามือสอง รวมไปถึงการผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุรีไซเคิล หรือวัสดุที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้กำลังมีการเติบโต

ทั้งนี้ ผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยควรศึกษาและวางแผนการผลิต ออกแบบ และทำตลาดภายใต้แนวคิดนี้เพิ่มขึ้น เพื่อลดการเกิดของเสียและมลพิษ การผลิตเสื้อผ้าจากวัสดุที่ปลอดภัยและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การเพิ่มระยะเวลาใช้งานเสื้อผ้า รวมทั้งการนำเสื้อผ้าเก่ามาผลิตเป็นเสื้อผ้าใหม่ เกิดการหมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรได้อย่างสูงสุด

นายภูสิต กล่าวว่า ยังพบว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะการที่ร้านค้าต้องปิดตัวลง ผู้คนต้องทำงานที่บ้าน และลดการใช้ชีวิตทางสังคม ทำให้ยอดการจำหน่ายเสื้อผ้าใหม่ลดลง ซึ่งผลสำรวจข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคทั่วโลกปี 63 ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคมีรายได้ลดลง และอุตสาหกรรมแฟชั่นจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากผู้บริโภคกว่า 51% ลดการใช้จ่ายซื้อเสื้อผ้ารองเท้าลงและให้ความสำคัญต่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายมากขึ้น และต้องการสินค้าที่มีคุณภาพ ใช้งานได้ยาวนาน โดยเฉพาะผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่ มิลเลนเนียลอายุ 24-37 ปี และเจนแซดอายุ 13-23 ปี ใส่ใจเป็นพิเศษต่อสินค้ารักษ์โลกเป็นพิเศษ

ปัจจุบัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมตามการเติบโตของธุรกิจแฟชั่น โดยเฉพาะกระแสฟาสต์ แฟชั่น ซึ่งเป็นเทรนด์เสื้อผ้าที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าออกมาให้ทันความต้องการ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกถึงความทันสมัยและซื้อบ่อยขึ้น อาจกลับทำให้สินค้าคุณภาพด้อยลง ใช้งานได้ไม่นาน และใช้ซ้ำได้น้อยครั้ง เสื้อผ้าปริมาณมหาศาลจึงต้องกลายเป็นขยะในที่สุด โดยแต่ละปีจะพบว่ามีเสื้อผ้าและสิ่งทอกว่า 85% ถูกทิ้ง และมีเพียง 15% ที่ได้รับการรีไซเคิลหรือนำไปบริจาค