จากประเด็นที่ผู้สื่อข่าวรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้หยิบยกประเด็นเงินบริจาคสุนัขจรจัดที่เป็นประเด็นในโซเชียลขึ้นมาพูดคุย เพราะแต่ละเดือนมีเงินบริจาคจำนวนมาก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดระเบียบ และนำการรับเลี้ยงสุนัขเข้าสู่ระบบเพื่อให้สามารถระบุตัวเจ้าของ อีกทั้งเป็นการทำให้ผู้ที่จะรับเลี้ยงสุนัขและเจ้าของได้ให้เกิดความรับผิดชอบ จึงอยากให้ไปช่วยกันคิดเพื่อออกมาตรการขึ้นมาจัดระเบียบนั้น

ด้าน ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล ได้แสดงความคิดเห็นส่วนตัวประเด็นดังกล่าวว่า จริงๆ แล้วเรื่องดังกล่าวเกี่ยวกับการจัดระเบียบสัตว์เลี้ยงนั้น เป็นเรื่องสำคัญมากและภาครัฐควรกำหนดแนวทางและมาตรการที่จริงจัง ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่พอมีกระแสแล้วหยิบยกประเด็นขึ้นมาพูด พอหมดกระแสก็เงียบหายไปเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา  สำหรับประเด็นที่น่าสนใจและควรหยิบยกขึ้นมาพูดต่อคือ ปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของสุนัขจรจัด จากการสำรวจของกรมปศุสัตว์เมื่อปี พ.ศ.2563 พบว่ามีสุนัขจรจัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2.3 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2557 มีสุนัขจรจัดเพียง 7.3 แสนตัว หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ในระยะเวลา 6 ปี และมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางหรือมาตรการและหน่วยงาน งบประมาณ และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องในการรองรับการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลมากเพียงพอสำหรับการจัดระเบียบถ้าจะมีการขึ้นทะเบียน สุนัขและแมว ส่วนตัวเห็นด้วยในหลักการการขึ้นทะเบียน แต่วิธีการต้องศึกษาให้รอบคอบ โดยเห็นด้วยว่าสุนัขและแมว ควรมีผู้รับผิดชอบ ที่มีเจ้าของก็ดีแล้ว ส่วนไม่มีเจ้าของท้องถิ่นหรือภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ เพราะแต่ละท้องถิ่นจะเข้าใจสภาพบริบทปัญหาของตนเองได้ดีและเพื่อป้องกันสัตว์ไม่ให้ไปสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น และเพื่อป้องกันโรคที่อาจแพร่ระบาดที่เกิดจากสัตว์ เพื่อการคุมกำเนิด การขยายพันธุ์ของสัตว์นั้น เพื่อให้สัตว์นั้นได้รับการดูแลจัดสวัสดิภาพอยู่เป็นที่เป็นทางที่เหมาะสม  ส่วนที่ไม่เห็นด้วย คือ อัตราค่าธรรมเนียมและค่าปรับสูงเกินไป อาจสร้างภาระให้ประชาชน โดยใช่เหตุ และนำมาซึ่งการละเมิดกฎหมายและการทิ้งสัตว์มากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันถ้าไม่มีบทกำหนดโทษเลย ผู้กระทำผิดก็จะไม่เกรงกลัวและปฏิบัติตามกฎหมายเช่นกัน จึงควรศึกษาและกำหนดให้เกิดความเหมาะสม เกิดดุลยภาพที่สอดคล้องตามสภาพบริบทของสังคมท้องถิ่นนั้นจะเป็นการดีที่สุด 

ข้อเสนอแนะ  1. ควรสร้างหลักเกณฑ์วิธีการที่ชัดเจน โดยเฉพาะเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ค่าปรับ ค่าขึ้นทะเบียน ควรมีหลักเกณฑ์ ที่ชัดเจน แน่นอน เพื่อการปฏิบัติที่สะดวก และป้องกันการกลั่นแกล้งหรือทุจริต และในระยะต้นควรมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับ เพื่อจูงใจให้คนมาขึ้นทะเบียน แล้วค่อยเก็บจากน้อยไปหามากไม่สร้างภาระให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น  2. ควรศึกษารายละเอียดถึงความพร้อมศักยภาพของราชการส่วนท้องถิ่น บุคลากรและงบประมาณที่จะมารองรับเรื่องดังกล่าว  3. ควรศึกษาถึงกฎหมายที่มีอยู่ว่า มีความซ้ำซ้อนหรือมีความจำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่หรือไม่ โดยอาจนำกฎหมายเดิมที่มีอยู่มาศึกษาปรับปรุงแก้ไข เป็นกรณีศึกษา เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มากเกินไป และเรียนรู้ศึกษากรณีว่าที่ผ่านมาทำไมกฎหมายที่มีอยู่จึงไม่มีสภาพบังคับใช้ เช่น ตามข้อบัญญัติ กทม.เรื่องการปล่อยสุนัข หรือ พรบ.โรคระบาดสัตว์ เป็นต้น  4. ควรหามาตรการอื่นที่ควบคู่กับการขึ้นทะเบียน เช่น การทำหมันฉีด วัคซีนจัดสถานที่ดูแล หาบ้านใหม่และปลูกจิตสำนึก ให้ประชาชนมีความเข้าใจเห็นถึงความสำคัญและยินยอมสมัครใจในการปฏิบัติตามกฎหมาย 

5. สร้างการมีส่วนร่วมและบูรณาการทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด  6. บ้าน วัด หรือสถานสงเคราะห์สัตว์ หรือที่เลี้ยงสัตว์จำนวนมากควรได้รับการยกเว้นและควรจัดสรรงบประมาณ มีหน่วยงานช่วยดูแล สนับสนุนในด้านวิชาการ และสวัสดิการอื่น สร้างผลกระทบและสร้างภาระให้น้อยที่สุด เป็นต้นสำหรับ มาตรการอื่นนอกจากการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงแล้ว การผ่าตัดทำหมันสัตว์จรจัด อย่างรวดเร็วครบทั้งวงจรทั่วประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ ควบคู่กับการจัดสุนัขชุมชน การบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาดจริงจังต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ การรักเมตตาสัตว์อย่างรับผิดชอบ รวมทั้งการเสนอเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ได้รับผลกระทบเดือดร้อนรำคาญอันเกิดจากสัตว์ การป้องกันโรคต่าง ๆ ที่สัตว์เป็นพาหะ รวมถึงวิธีการควบคุมจำนวนประชากร การจัดสวัสดิภาพสัตว์จรจัด การเสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้งบประมาณในการช่วยเหลือสัตว์ การสนับสนุนพัฒนาสถานสงเคราะห์สัตว์ประจำท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเพิ่มบทบาทขององค์กรภาคเอกชนอย่างเหมาะสม เสริมรับกับแนวทางภาครัฐในการแก้ไขปัญหาของชุมชนสังคมและสัตว์อย่างสันติวิธี เป็นต้น

ดังนั้นจึงจะเป็นแนวทางในการการแก้ปัญหาได้อีกระดับหนึ่ง สำหรับประเด็นเงินบริจาคสุนัขจรจัดที่เป็นประเด็นในโซเชียลขึ้นมาพูดคุยนั้น จริงๆ ก็ต้องย้อนถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า แต่ละหน่วยงานนั้นมีอำนาจหน้าที่อย่างไร และได้ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่นั้น อย่างเต็มตามศักยภาพแล้วหรือยัง และที่สำคัญถ้ามีกลุ่มหรือบุคคลใดแม้กระทั่งหน่วยงานไหน ที่กระทำความผิดอันเป็นการละเมิดข้อกฎหมายและกระทำที่ขัดความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนก็ควรดำเนินการให้เด็ดขาดและถูกต้องเหมาะสมต่อไป ส่วนตัวเชื่อว่ายังมีบุคคลและองค์กรอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริงที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสนับสนุนและร่วมสร้างสังคมส่วนรวมให้ดียิ่งขึ้นต่อไป.