ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงพิมพร ทองเมือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม และรองศาสตราจารย์ ดร.รจนา จันทราสา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา อาจารย์อทิตยา บัวศรี ผู้จัดการหน่วยบ่มเพาะ สถาบันวิจัยและพัฒนา พร้อมด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาท้องถิ่นกลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง ศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมขับเคลื่อนนวัตกรรมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหลือใช้กุหลาบบูชาจากวัดจุฬามณี เนื่องในพิธีทำบุญศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อประดิษฐานองค์ท้าวเวสสุวรรณโณ และพิธีบวงสรวงองค์ท้าวเวสสุวรรณโณ สมโภช 121 ปี จังหวัดสมุทรสงคราม ณ บริเวณโถง ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีนายขจร ศรีชวโนทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (หลวงพ่ออิฐ) เจ้าคณะตำบลบางช้าง เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมในพิธีฯ เพื่อความเป็นสิริมงคล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เภสัชกรหญิงพิมพร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว มาจากการที่วัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งในอำเภออัมพวา ที่ประชาชนต่างหลั่งไหลมาเคารพกราบไหว้ขอพร “ท้าวเวสสุวรรณ” ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีความเลื่อมใสศรัทธา นำดอกกุหลาบมากราบไหว้บูชาเป็นจำนวนมาก และหลังจากที่ประชาชนมากราบไหว้ ทางวัดจะมีวิธีการจัดการของเหลือใช้จากการบูชาได้อย่างไร ให้ลดกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น ดังนั้นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม ซึ่งเป็นภาควิชาการในพื้นที่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนา จึงมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือวัดและชุมชน จึงได้เกิดโครงการศึกษาวิจัย เรื่อง “นวัตกรรมการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหลือใช้จากกุหลาบบูชา” โดยความร่วมมือของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทากับวัดจุฬามณี และชุมชนท้องถิ่น

ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.รจนา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า ได้รายงานผลการดำเนินงานผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากกุหลาบบูชาให้พระครูโสภิตวิริยาภรณ์ (หลวงพ่ออิฐ) เจ้าอาวาสวัดจุฬามณี และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงครามทราบแล้ว ซึ่งท่านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โครงการนี้นับว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยเหลือวัดและชุมชนในการพัฒนาสิ่งเหลือใช้จากกุหลาบบูชา ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อประโยชน์และการขยายผลสู่ชุมชนต่อไป.