เมื่อ​วันที่​ 26 มิ.ย.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมพายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง “คลองอ้อมนนท์ คลองบางกรวย คลองบางกอกน้อย” กระตุ้นจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของประชาชนริมสองฝั่งคลอง ไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง เตรียมเป็นโครงการนำร่องในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลอง และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียน วัด ภาครัฐ และภาคเอกชน สำหรับชุมชนต่างๆ ริมคลองทั้ง​ 3 สาย พร้อมร่วมเวที “เสวนาสามคลอง : แม่น้ำลำคลอง และการพัฒนากรุงเทพและนนทบุรีอย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นตัวอย่างให้พื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ของประเทศต่อไป

นายอนุชา สะสมทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยและขยะทะเลที่เกิดขึ้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากขยะประเภทต่างๆ ที่ไม่ได้รับการบริหารจัดการที่ถูกต้อง เกิดขยะตกค้างสะสม ไหลจากแม่น้ำลำคลองสู่ทะเล โดยขยะร้อยละ 80 มีแหล่งกำเนิดจากบนบก ซึ่งประเทศไทย​ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ทั้งขยะบนบกและขยะทะเล โดยกำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอยและปัญหาขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ ปฏิบัติตามแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2563 – 2573) โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันตามแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินกิจกรรมลดและคัดแยกขยะ รณรงค์สร้างจิตสำนึก ส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน สถานศึกษาหน่วยงานภาครัฐและเอกชน บูรณาการร่วมกันแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศไทย รวมทั้งการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ดำเนินการลดปริมาณขยะในครัวเรือน ชุมชน คูคลองสาขา และแม่น้ำหลัก เพื่อลดปริมาณขยะก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลอย่างต่อเนื่อง

สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนในวันนี้ เป็นกิจกรรมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึก รณรงค์ให้คนไทยไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนริมสองฝั่งคลองในการร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมให้เป็นโครงการนำร่องในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำลำคลอง และปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยร่วมกันทั้งชุมชน (บ้าน) วัด โรงเรียน ภาครัฐ และภาคเอกชน สำหรับชุมชนต่างๆ ริมคลองทั้ง 3 สาย และเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป นายอนุชา กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดโครงการ พายเรือเพื่อแม่น้ำสามคลอง : คลองอ้อมนนท์ คลองบางกรวย คลองบางกอกน้อย ในวันนี้ เป็นกิจกรรมเก็บขยะในลำคลอง ซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักในอดีตของชาวกรุงเทพมหานคร ชาวนนทบุรี และชาวบางกรวย เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักให้ประชาชนในพื้นที่ ได้ทราบถึงปัญหาขยะในแหล่งน้ำ รวมทั้งการศึกษาทรัพยากรธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของริมสองฝั่งคลอง ซึ่งจะมีเรือที่พายประมาณ 200 – 300 ลำ โดยเริ่มต้นจากสถานที่จัดงาน ทั้งท่าเรือวัดบางอ้อยช้าง ท่าเรือวัดไก่เตี้ย ไปจนถึงวัดชลอ อ. บางกรวย​ จ.นนทบุรี ซึ่งเป็นจุดบรรจบของแม่น้ำสามคลอง คือ คลองอ้อมนนท์ คลองบางกรวย และคลองบางกอกน้อยนั่นเอง

สำหรับโครงการพายเรือเพื่อเจ้าพระยา เป็นความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อรณรงค์ลดปริมาณขยะในแม่น้ำ และสร้างความตระหนักให้คนไทยเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาขยะทะเลที่ต้นเหตุ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยกิจกรรมพายเรือเพื่อเจ้าพระยาในครั้งที่ผ่านมา “พายเรือ
เพื่อเจ้าพระยา : เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย” เมื่อวันที่ 10 – 23 ธันวาคม 2561 และวันที่ 25 ตุลาคม 2562​ เก็บขยะในจังหวัดต่างๆ ทั้ง 10 จังหวัดที่แม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ซึ่งปริมาณขยะที่เก็บได้ ในปี 2561 เก็บได้กว่า 2,141.20 กิโลกรัม และปี 2562 เก็บได้กว่า 3,215 กิโลกรัม โดยเป้าหมายใหญ่ของการรณรงค์พายเรือเก็บขยะ ไม่เพียงเพื่อลดขยะในแม่น้ำลำคลองเท่านั้น แต่ต้องการให้ขยะเป็นศูนย์ โดยการลดการใช้ เลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำ สร้างความตระหนักรู้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการจัดการขยะที่ถูกวิธี ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณขยะในแม่น้ำ​ ลำคลอง ไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลและเป็นภัยต่อสัตว์น้ำต่อไป ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย