ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ องค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย มูลนิธิเอิร์ธ อเจนด้า ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย ยื่นหนังสือถึง นายสรชัด สุจิตต์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาศึกษา วิเคราะห์ จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ในวัดและที่สาธารณะและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรณีศึกษาวัดชลประทานรังสฤษดิ์ จังหวัดนนทบุรี โดยมีนายนิติพล ผิวเหมาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรองคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นผู้รับมอบหนังสือ ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย

นายทศพร กลั่นแก้ว ตัวแทนองค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่าพื้นที่วัดและที่สาธารณะ ส่วนใหญ่ได้มีผู้นำสัตว์ มาปล่อยละทิ้งเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าสัตว์ป่า เช่น นก เต่า หมูป่า หรือจะเป็นสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขและแมว ซึ่งจากการสำรวจของกรมปศุสัตว์เมื่อปี พ.ศ.2563 พบว่ามีสุนัขจรจัดทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2.3 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2557 มีสุนัขจรจัดเพียง 7.3 แสนตัว หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว ในระยะเวลา 6 ปี และมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการแพร่กระจายขยายพันธุ์ของสัตว์เป็นจำนวนมาก บางครั้งอาจจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นภาระกับทางพระภิกษุ สามเณร ในการปฏิบัติศาสนกิจ รวมถึงประชาชนในพื้นที่รอบข้าง 

อีกทั้งบางพื้นที่สาธารณะหรือวัด มีการจัดจำหน่ายทำธุรกิจการค้าชีวิตสัตว์ หรือไถ่ชีวิตเพื่อนำมาปล่อย ซึ่งจากการศึกษาและจัดทำข้อมูลของสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย พบว่าเฉพาะวงจรการค้าหรือการทำธุรกิจเกี่ยวกับการจับสัตว์มาปล่อยตามความเชื่อนั้น ปีหนึ่งๆจะมีมูลค่าวงจรทางธุรกิจหลาย 100 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจดังกล่าวจะแพร่กระจายไปตามวัดที่มีชื่อเสียงและสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาสำคัญๆ หรือที่สาธารณะทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะส่วนใหญ่จะเป็นการทำลายวงจรชีวิตสัตว์ตามธรรมชาติและเป็นการทารุณสัตว์อันไม่สมควร เช่น การปล่อยเต่า ในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะเต่าก็จะตาย ปล่อยเต่าที่มีน้ำกร่อยหรือผิดน้ำจะทำให้เต่าตาบอดและตายเช่นกัน การปล่อยหอยขม ต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะเช่นบึงคลองไม่ใช่แม่น้ำ การปล่อยปลาไหล ในน้ำไหลแรง ปลาไหลก็อยู่ไม่ได้ หรืออาจช็อกในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้ และที่สำคัญการปล่อยสัตว์นั้นอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคสัตว์และโรคสัตว์สู่คนได้

ปัจจุบันแม้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 กำหนด มาตรา 23 ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุอันสมควร มาตรา 32 เจ้าของไม่ปฏิบัติหรือฝ่าฝืนมาตรา 23 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 89 ได้กำหนดในการห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปีปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 92 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีปรับไม่เกินห้าแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หรือแม้แต่การค้าสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี ก็ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่แสนบาทหรือทั้งจำและปรับ แต่การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังไม่เด็ดขาดจริงจังเท่าที่ควรและสัตว์บางชนิดก็ไม่ได้รับความคุ้มครองนอกจากปัญหาการนำสัตว์มาปล่อยแล้ว กิจกรรมที่เกี่ยวกับสัตว์ภายในวัด เช่น การไถ่ชีวิต นก เต่า ปลา โค กระบือ ก็ล้วนนำมาซึ่งปัญหา ถ้าการบริหารจัดการขาดความรู้ความเข้าใจหรือไม่ดีพอ ดังเช่น ล่าสุดวัดดังในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี ซึ่งสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย สมาคมสงเคราะห์สัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และองค์กรสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยองค์กรเครือข่าย ได้ลงพื้นที่ติดตามเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด พบว่าการดำเนินการนั้นอาจจะเข้าข่ายการกระทำที่อาจจะไม่เหมาะสมและอาจเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่สมควรอีกด้วยดังนั้นสมาคมฯ พร้อมองค์กรเครือข่าย จึงมายื่นหนังสือ เพื่อขอให้ 1.มีการศึกษาวิเคราะห์ พร้อมจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปล่อยสัตว์ในวัดและที่สาธารณะของประเทศไทย 2.เพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการจัดการสัตว์ภายในวัดกรณีวัดต่างๆ เช่นวัดดัง ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ที่มีการร้องเรียนก่อนหน้านี้ และ 3.ขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป