จากรายงานของสำนักข่าวเอพีสัปดาห์ก่อน อัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ของเมียนมา มีค่าเฉลี่ยตลอด 7 วัน อยู่ที่ 6.29 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แซงหน้าอินโดนีเซียและมาเลเซีย ขึ้นแท่นสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมากกว่า 2 เท่าของอินเดีย ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.04 คน ในช่วงวิกฤติที่สุดเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

แต่หลายฝ่ายเชื่อว่า ตัวเลขจริงและสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้หลายเท่า เนื่องจากอัตราการตรวจหาเชื้อต่ำมาก และการรายงานไม่ครอบคลุม

ตอนนี้ถังออกซิเจนการแพทย์ในเมียนมาขาดแคลนหนัก รัฐบาลทหารที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า คณะมนตรีการปกครองแห่งรัฐหรือ เอสเอซี (StateAdministrative Council : SAC) จำกัดการขายของเอกชนในเมืองต่าง ๆ โดยอ้างเพื่อป้องกันการกักตุน ท่ามกลางข่าวลือว่าถังออกซิเจน ถูกกวาดส่งให้โรงพยาบาลของรัฐ และกลุ่มผู้สนับสนุนเอสเอซีเท่านั้น

ขณะเดียวกัน บุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากถูกจับกุม เนื่องจากเป็นหัวหอกประท้วงต่อต้านเอสเอซีเรียกร้องเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาล

จากข้อมูลของทอม แอนดรูว์ส ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กองกำลังความมั่นคงเมียนมาเกี่ยวพันกับ การโจมตีบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล อย่างน้อย260 ครั้ง สังหารแพทย์พยาบาล 18ราย จับกุมอย่างน้อย 67 คน และกำลังตามล่าหาตัวอีกประมาณ600 คน

ต้นสัปดาห์ที่แล้ว แอนดรูว์ส เรียกร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และรัฐสมาชิก ให้ร่วมกันผลักดันหยุดยิงโควิด (COVIDcease-fire) ในเมียนมา โดยเฉพาะหยุดยั้งการโจมตีบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้มีแพทย์พยาบาลช่วยรักษาชีวิตประชาชนในประเทศให้มากที่สุด

อี ยาง-ฮี อดีตผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนเมียนมาของสหประชาชาติ และผู้ร่วมก่อตั้งสภาที่ปรึกษาพิเศษสำหรับเมียนมา กล่าวว่า ตอนนี้เอสเอซีหยุดแจกชุดพีพีอี และหน้ากากอนามัย รวมทั้งไม่ให้ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายต่อต้าน เข้ารับการรักษาโควิดในโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากนั้นยังสั่งห้ามขายออกซิเจนถัง แก่ประชาชนที่ไม่สนับสนุนเอสเอซี

แต่รายงานในหนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมา หนึ่งในสื่อกระบอกเสียงหลักของรัฐบาล ระบุว่า ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเต็มไปด้วยรายงานความพยายามของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหารวมถึงการเร่งฉีดวัคซีน และเพิ่มออกซิเจนถังที่ขาดตลาด พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำสูงสุดของเอสเอซี กำลังขอความช่วยเหลือจากกลุ่มชาติอาเซียน และอีกหลายประเทศ “ที่เป็นมิตร”

แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลกลาง เมืองเมาะละแหม่ง เมืองใหญ่อันดับ 4 ทางภาคใต้ตอนบน เผยต่อสำนักข่าวเอพีว่า ตัวเลขจริงของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในเมียนมา สูงกว่าที่รัฐบาลประกาศหลายเท่า

Bloomberg Quicktake: Now

ยังไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ เกี่ยวกับจำนวนชาวเมียนมาที่ฉีดวัคซีนต้านโควิด-19แล้ว แต่เชื่อกันว่ามีแค่ประมาณ 3% ของประชากรทั้งประเทศ 54.8 ล้านคน ที่ฉีดครบ 2เข็มแล้ว

รัฐบาลปฏิเสธข่าวป่าช้าหลายแห่งของเมืองย่างกุ้ง มีศพผู้เสียชีวิตจากโควิดล้นเผาไม่ทัน แต่ประกาศว่าทางการกำลังสร้างสุสานใหม่อีกหลายแห่ง ที่สามารถเผาศพได้ถึงวันละ 3,000 ราย

คลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นผู้ป่วยโควิดหลายคนนอนเสียชีวิตภายในบ้าน เนื่องจากการขาดการรักษา ประชาชนเข้าแถวยาวรอซื้อออกซิเจนถังจากร้านค้าที่ยังพอหาได้

ฟิล โรเบิร์ตสัน รอง ผอ.ฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า การที่รัฐบาลทหารเมียนมาปล่อยให้การระบาดของโควิด-19 อยู่นอกเหนือการควบคุม ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งทั้งต่อประชาชนในประเทศ กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และทั่วโลก “ปัญหาก็คือเอสเอซี สนใจรักษาอำนาจ มากกว่าควบคุมการระบาดของโควิด-19”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AP