กลุ่มนักวิจัย กล่าวว่า ประชากรของหมีขั้วโลกหลายร้อยตัวกลุ่มนี้ ซึ่งอาศัยอยู่บนชายฝั่งทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกรีนแลนด์ บริเวณช่องแคบเดนมาร์ก เอาชีวิตรอดโดยการล่าสัตว์บนก้อนน้ำแข็งน้ำ ที่แตกออกจากธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ขนาดใหญ่ แทนการอาศัยน้ำแข็งทะเลที่มีน้อยลงในปัจจุบัน

“พวกมันมีชีวิตรอดในฟยอร์ด หรืออ่าวแคบ ๆ ที่อยู่ระหว่างหน้าผาสูงชัน ซึ่งไม่มีน้ำแข็งทะเลมานานกว่า 8 เดือน เนื่องจากพวกมันเข้าถึงธารน้ำแข็ง หรือน้ำแข็งที่เกิดจากน้ำจืด ที่พวกมันสามารถทำการล่าได้ โดยถิ่นอาศัยเช่นนี้ถือเป็นเรื่องแปลกในพื้นที่ส่วนใหญ่ของขั้วโลกเหนือ” นางคริสติน ไลเดร นักวิทยาศาสตร์ขั้วโลก จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้เขียนนำของการศึกษา ที่ตีพิมพ์ในวารสาร “ไซแอนซ์” ( Science ) กล่าว

Reuters

พวกมันถูกพบว่าเป็นหมีขั้วโลก ซึ่งแยกห่างทางพันธุกรรมมากที่สุดของโลก ด้วยความแตกต่างจากประชากรหมี 19 สายพันธุ์อื่นที่รู้จัก ซึ่งเกือบตัดขาดจากหมีขั้วโลกสายพันธุ์อื่นโดยสมบูรณ์ อย่างน้อยหลายร้อยปี โดยไม่มีหลักฐานการออกจากพื้นที่ แต่มีร่องรอยการเข้ามาเป็นครั้งคราวจากที่อื่นแทน

ด้านนางเบธ ชาพิโร นักชีววิทยาโมเลกุลด้านวิวัฒนาการ และผู้เขียนร่วมของการศึกษา จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย-ซานตาครูซ และสถาบันการแพทย์ โฮเวิร์ด ฮิวส์ กล่าวว่า หมีขั้วโลกเหล่านี้ “อาศัยอยู่บนความเสี่ยงของสิ่งที่พวกเราเชื่อว่า เป็นไปได้ทางสรีรวิทยา”

“หมีพวกนี้ไม่เพิ่มจำนวนมาก พวกมันสืบพันธุ์ช้าลง และมีขนาดตัวเล็กลง แต่ที่สิ่งสำคัญคือ พวกมันมีชีวิตรอด ซึ่งมันเป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ว่า ความแตกต่างเหล่านี้เกิดจากการปรับตัวทางพันธุกรรม หรือเป็นเพียงแค่การตอบสนองของหมีขั้วโลก ต่อถิ่นอาศัยและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างจากที่อื่นอย่างมาก” ชาพิโร กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ หมีขั้วโลกประมาณ 26,000 ตัว เสี่ยงต่ออันตรายเป็นพิเศษจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่ออุณหภูมิที่สูงขึ้น เปลี่ยนรูปร่างภูมิประเทศของขั้วโลกเหนือ และไล่พวกมันออกจากพื้นน้ำแข็งทะเลที่ใช้สำหรับล่าเหยื่อเป็นประจำ

อย่างไรก็ดี ชาพิโร กล่าวว่า การค้นพบอาจทำให้เห็นถึงการที่หมีขั้วโลกสามารถเอาชีวิตรอดจากภาวะอากาศร้อนในอดีต เมื่อราว 500,000 ปีก่อน นับตั้งแต่ที่พวกมันแยกวิวัฒนาการออกจากหมีสีน้ำตาลได้

“หมีขั้วโลกกำลังเจอปัญหา” ชาพิโร กล่าวเพิ่มเติม “มันเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่า หากเราไม่สามารถชะลออัตราของภาวะโลกร้อนได้ หมีขั้วโลกจะเข้าใกล้การสูญพันธุ์มากขึ้น และยิ่งพวกเราสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ที่พิเศษแบบนี้ได้ เรายิ่งสามารถช่วยเหลือพวกมันให้มีชีวิตรอดอีก 50-100 ปีต่อไปได้”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS