ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังพันธมิตรร่วมกับ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย และมูลนิธิโลกสีเขียว จัดกิจกรรมเนื่องในวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ประจำปี พ.ศ. 2565 ในหัวข้อ “สร้างสรรค์และแบ่งปันอนาคตที่ยั่งยืน เพื่อโลก เพื่อเรา (Building a shared future for all life)” เพื่อรณรงค์ให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยถ่ายทอดสดกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ทาง Facebook Live เพจ Biodiversity CHM Thailand

โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. เป็นประธานในพิธีเปิด ร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมจัดกิจกรรม ภายในงานมีการเสวนาของผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในหัวข้อ “การสร้างความเป็นพันธมิตร การฟื้นฟูสีเขียว เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน เพื่อเราทุกคน” และตัวแทนคนรุ่นใหม่ ในหัวข้อ “ปรับ Mindset & Passion เพื่อรักษ์ที่ยั่งยืน” พร้อมนิทรรศการจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง เลขาธิการ สผ. ได้กล่าวภายในงานว่า ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ซึ่งจะจัดขึ้นในปีนี้ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะมีการพิจารณาประเด็นที่สำคัญ คือ กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกภายหลังปี ค.ศ. 2020 รวมถึงวิสัยทัศน์ระยะยาว (ปี ค.ศ. 2050) ซึ่งทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยจะใช้เป็นกรอบในการดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์ เพื่อบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในระดับประเทศต่อไป ในส่วนของประเทศไทย พบว่า ที่ผ่านมาทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพยังถูกคุกคามจากใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษ และชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน สผ. ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว จึงได้ดำเนินการจัดทำร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุม การส่งเสริมและสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชนและภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านมาตรการ กลไกต่าง ๆ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายประเทศในการขับเคลื่อน Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG โมเดล ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมใน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ไปพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม .