โลกที่น่าอยู่ สังคมที่น่าปรารถนา ครอบครัวที่มีความสุขนั้น ผู้คนในสังคมต้องมีเมตตากรุณาเป็นพื้นฐานของจิตใจ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Love” หมายถึง ความรัก ความพอใจ ความชอบใจ ความปรารถนาต่อบุคคล สัตว์ หรือสิ่งของ

ในทางพระพุทธศาสนาใช้คำว่า “เมตตากรุณา” หมายถึง ความรัก ความสงสาร และช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ซึ่งอยู่ในหลัก “พรหมวิหารธรรม” อันประกอบไปด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และ อุเบกขา ทั้ง 4 ข้อนี้มีความเชื่อมโยงและทำหน้าที่ต่อกัน เพื่อเป็นหลักแห่งการแบ่งปันในสังคม สร้างความสุขร่มเย็นในใจของมนุษย์

ยกตัวอย่าง ขณะที่เราขับรถบนถนน มองเห็นสุนัขตัวหนึ่งโดนรถชน นอนอยู่กลางถนน ถ้าเราเกิดความสงสารสุนัขตัวนั้นตั้งแต่ภาพแรกก็เรียกว่า “เมตตา” ความสงสารสุนัขเกิดขึ้นในใจเราจนไม่สามารถขับรถต่อไปได้ ตัดสินใจจอดรถข้างทางแล้ววิ่งลงมาอุ้มสุนัขไปโรงพยาบาลสัตว์ นี่เรียกว่า “กรุณา” ลงมือช่วยให้สุนัขรอดพ้นจากความทุกข์ความเจ็บปวด เมื่อพาสุนัขไปโรงพยาบาลสัตว์ หมอรักษาจนสุนัขหายเป็นปกติ เรารู้สึกดีใจ ยินดีที่สุนัขปลอดภัย เรียกว่า “มุทิตา” จนสุดท้ายนำสุนัขกลับมาเลี้ยงที่บ้าน วันหนึ่ง สุนัขตัวนั้นตาย เราก็คิดในใจว่า เราทำได้ดีที่สุดแล้ว เราดูแลอย่างเต็มที่แล้ว แม้เสียใจแต่ก็มีหลักใจที่ดี เข้าใจถึงความจริง ความสูญเสีย ความพลัดพราก แบบนี้เรียกว่า “อุเบกขา”

พระพุทธเจ้า ทรงนำเสนอหลักการ “พรหมวิหารธรรม” เพื่อความน่าอยู่ของโลกใบนี้ ด้วยแนวคิด “เราทุกคนในโลกนี้ ไม่มีใครที่ไม่เป็นญาติพี่น้องกัน สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น” อย่างที่เราเคยได้สวดบทแผ่เมตตาหลังทำวัตรสวดมนต์เช้าเย็นว่า “สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น อะเวรา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีเวรแก่กันและกันเลย อัพยาปัชฌา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย อะนีฆา โหนตุ จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ จงมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัย อันตรายทั้งสิ้นเถิด”

ความเมตตากรุณานี้ พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติและบำเพ็ญมาโดยตลอด รับรองด้วยคำกล่าวของ พระเทวทัต ผู้ลอบปลงพระชนม์ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ครั้งที่ 1 ส่งนายขมังธนูเพื่อให้ไปประหารพระพุทธองค์ ครั้งที่ 2 ขึ้นไปบนภูเขาคิชฌกูฏกลิ้งหินหมายจะปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ครั้งที่ 3 ปล่อยช้างนาฬาคีรี ซึ่งกําลังเมามันเพื่อให้ทําร้ายพระพุทธองค์

หลังจากที่ พระเทวทัต เป็นไข้ถึง 9 เดือน ในกาลสุดท้าย ใคร่จะเฝ้าพระศาสดา จึงบอกพวกสาวกของตนว่า “เราใคร่จะเฝ้าพระศาสดา พาเราไปเข้าเฝ้าพระศาสดาด้วย” สาวกเหล่านั้นตอบว่า “ท่านได้สร้างกรรมทำเวรกับพระศาสดา ข้าพเจ้าทั้งหลายไม่สามารถนำท่านไปเฝ้าพระศาสดาได้” พระเทวทัตจึงกล่าวว่า “ท่านทั้งหลายอย่าให้ข้าพเจ้าฉิบหายเลย แม้ข้าพเจ้าทำอาฆาตในพระศาสดา แต่สำหรับพระศาสดาไม่ได้มีความอาฆาตในข้าพเจ้า แม้ประมาณเท่าปลายผมก็ไม่มี”

เหตุการณ์นี้ ได้ยืนยันถึงพระเมตตาธคุณ พระมหากรุณาธิคุณ ขององค์พระศาสดา อย่างหาที่สุดมิได้

………………………………………………….

คอลัมน์ : ลานธรรม

โดย : พระครูปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจายวรวิหาร รองประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี