เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.65 เวลา 05.30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่ตรวจการเปิดการจราจรทางยกระดับรามคำแหง (ขาเข้า) ในพื้นที่เขตบางกะปิ โดยมี พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น., นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา บริษัทผู้รับจ้างฯ และผู้เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ 

สืบเนื่องจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ก่อสร้างในแนวบริเวณถนนรามคำแหง เป็นช่วงของรถไฟฟ้าใต้ดิน มีโครงสร้างหลังคาสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม (สถานีรามคำแหง 12) ที่ต้องอยู่ใต้โครงสร้างของทางยกระดับรามคำแหงช่วงทางลงฝั่งขาเข้า ระยะทางยาวประมาณ 300 ม. รฟม.ได้ยื่นขออนุญาต กทม. เพื่อรื้อย้ายทางยกระดับบางส่วน และก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ รฟม. ได้ก่อสร้างทางยกระดับช่วงที่รื้อย้ายกลับคืน ที่ผ่านมา มีประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการก่อสร้างทางยกระดับที่มีความล่าช้า ยาวนานมาแล้วกว่า 4 ปี ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณถนนรามคำแหง และพื้นที่ต่อเนื่อง สำนักการโยธา กทม. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบพิจารณาอนุญาตโครงการฯ ได้มีการติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันงานก่อสร้างทางยกระดับรามคำแหงแล้วเสร็จ พร้อมเปิดการจราจรได้ในวันที่ 15 มิ.ย.65 ตั้งแต่เวลา 05.30 น. เป็นต้นไป เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาการจราจรให้กับประชาชน 

นายชัชชาติ กล่าวว่า เช้านี้ได้มาดูการจราจรเส้นรามคำแหง บริเวณที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ผ่านมาได้มีการปิดการจราจรสะพานข้ามแยกรามคำแหง ทำให้รถต้องลงมาใช้ทางราบส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด ตนได้มอบหมายให้ นายวิศณุ เร่งรัดการก่อสร้างจนเปิดการจราจรเมื่อเวลา 05.30 น. ที่ผ่านมา ขณะนี้ รถสามารถขึ้นจากบริเวณใกล้ๆแยกลำสาลีวิ่งเข้าเมืองไปลงถนนพระราม 9 ได้ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรได้ 

นอกจากนี้ ได้ไปดูการจราจรบริเวณซอยรามคำแหง 40 ซึ่งการจราจรติดขัดเหมือนกัน โดยจะเร่งคืนพื้นผิวจราจรทางราบเพื่อเคลียร์เครนก่อสร้างออกไปก่อน ส่วนบริเวณแยกลำสาลี จะคืนพื้นที่ถนนในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ 

อย่างไรในภาพรวมจะเร่งคืนทางเท้า พื้นผิวจราจร ตรวจสอบระบบระบายน้ำระหว่างเส้นทางที่อาจมีปัญหาจากการก่อสร้างไปโดนท่อระบายน้ำเสียหาย หากเกิดฝนตกอาจเกิดน้ำท่วมทางเดินเท้า รวมถึงการนำสื่อสารลงดิน ซึ่งจะได้ดำเนินการควบคู่กันไป จะได้ไม่ต้องไม่ขุดใหม่ รวมถึงด้านความปลอดภัยด้วย เนื่องจากประชาชนต้องเดินข้ามตรงทางม้าลายทั้ง 2 ฝั่ง เพราะปัจจุบันสภาพทางเท้าไม่ดี เนื่องจากมีการก่อสร้างอยู่ อีกทั้งสะพานลอยคนข้ามถูกรื้อออกไป การขยับแบริเออร์เข้าอีก 5 ซม. ก็จะช่วยเพิ่มพื้นผิวการจราจรได้อีกมากทำให้รถเคลื่อนตัวได้ดีขึ้น ซึ่งตั้งเป้าจะแล้วเสร็จ 2 ต.ค.นี้ ส่วนไหนเสร็จก็ทยอยเปิดใช้งาน โดยจะเร่งรัดรีบคืนพื้นที่ให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด 

ด้าน พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานกับ กทม. และรฟม. เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าว ป้องกันอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้าง ประสานผู้รับจ้างดูแลไฟส่องสว่าง ป้ายสัญญาณต่าง ๆ รวมถึงการเปิดช่องทางจราจรให้มากที่สุดและมีความชัดเจน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้น 

“นับว่าเป็นการร่วมมือกันของ 4 ส่วน คือ กรุงเทพมหานคร, รฟม., ส่วนจราจร และผู้รับจ้าง ในการพูดคุยประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง ทางเราเป็นเจ้าของพื้นที่ ต้องเข้มงวดกวดขันในเรื่องคุณภาพในการคืนพื้นที่ให้แก่ประชาชน โดยเอาความสะดวกประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อการเดินทางอย่างปลอดภัย” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว