ซึ่งล่าสุด นิวซีแลนด์ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่พยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการนำ “มาตรการทางเศรษฐศาสตร์” มาใช้ โดยมี “แนวคิด” ที่จะ “เก็บค่าปล่อยมลพิษ” ของภาคเกษตรกรรม และปศุศัตว์ หลังจากพบว่า… ได้มีการปล่อยมลพิษเป็นลำดับต้น ๆ ไม่แพ้ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ

นี่ก็เป็น “ปรากฏการณ์อัพเดท” ด้าน “สิ่งแวดล้อม”

ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึง “ความตื่นตัวของสังคมโลก”

ในการจะ “ลดปัญหา-แก้ปัญหา” เกี่ยวกับ “มลพิษ”

ทั้งนี้ ว่าด้วย “เครื่องมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม” อย่างเช่นการนำ “มาตรการทางเศรษฐศาสตร์” มาใช้ เพื่อที่จะนำไปสู่การ “ลดการปล่อยมลพิษ” นั้น ก็ “เป็นประเด็นที่น่าสนใจ” โดยไม่ได้มีแค่เพียง “ค่าปล่อยมลพิษ” แบบที่ประเทศนิวซีแลนด์มีแนวคิดนำมาใช้เท่านั้น หากแต่ยังมีเครื่องมือ มาตรการอีกหลาย ๆ รูปแบบ โดยเรื่องนี้ก็มีคำอธิบายที่น่าพิจารณาจากคู่มือของ กรมควบคุมมลพิษ ที่ได้ให้ข้อมูลไว้ ผ่านทางบทความ… มาตรการเศรษฐศาสตร์ในการจัดการมลพิษ

วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อให้พิจารณากัน…

ข้อมูลที่น่าสนใจ-น่าพิจารณา ข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวนั้น ได้มีการอธิบายถึง “มาตรการทางเศรษฐศาสตร์” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อ “แก้ไขปัญหามลพิษและการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” โดยระบุไว้ว่า… ปัญหามลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้นรุนแรงนั้น ส่งผลให้หลายประเทศหันมาร่วมกันแก้ไขปัญหาด้วยการ นำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์มาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจัดการและแก้ปัญหา ด้วยการ นำมาผูกเป็น ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมรวมกับ ต้นทุนการผลิต เพื่อที่จะทำให้ทางผู้ผลิตเลือกผลิตสินค้าหรือดำเนินกิจการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด…

นี่เป็นคำอธิบายเครื่องมือแก้ปัญหามลพิษนี้ในเบื้องต้น

และสำหรับในแง่ของ ความหมาย นั้น ก็ได้มีการอธิบายไว้ว่า… มาตรการทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการมลพิษ นั้น มี หลักการสำคัญคือผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle) ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และร่วมลดการสร้างมลพิษจากการผลิต การบริโภค สินค้าและบริการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย วัตถุประสงค์ ของการใช้เครื่องมือชนิดนี้มีเป้าหมายคือ… เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมีการลดมลพิษเพิ่มขึ้น …เป็นคำอธิบายโดยสังเขป

ส่วน ประเภท ของ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่นำมาใช้ในการจัดการมลพิษ ได้มีการจำแนกออกเป็นเครื่องมือต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ… ค่าธรรมเนียมการอนุญาต (Administrative Fees) หมายถึง… เงินที่จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการ โดยเรียกเก็บเมื่อยื่นขอใบอนุญาตดำเนินการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม, ค่าธรรมเนียมการใช้ (User Fees หรือ User Charges) หมายถึง… เงินที่จ่ายสำหรับต้นทุนการบำบัด กำจัดของเสีย หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

ค่าปรับ (Fines) คือ… เงินที่ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายเมื่อไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีอยู่, ค่าภาษีการปล่อยมลพิษ (Pollution Tax หรือ Pollution Fees) คือ… เงินที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การเก็บภาษีการปล่อยมลพิษ โดยเรียกเก็บตามปริมาณหรือประเภทมลพิษที่ปล่อยออกมา, การซื้อขายหรือโอนใบอนุญาตการปล่อยมลพิษ (Marketable หรือ Tradable Permits) คือ… ระบบที่ยอมให้มีการซื้อและขายสิทธิความเป็นเจ้าของใบอนุญาตปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมได้ เพื่อสร้างตลาดให้ผู้ก่อมลพิษปล่อยมลพิษที่บำบัดแล้วสู่สิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกกฎหมาย

ค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ (Product Surcharge) หมายถึง… การเก็บเงินจากผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดมลพิษจากขั้นตอนการผลิต การบริโภค หรือการกำจัด, ระบบมัดจำคืนเงิน (deposit-refund system) นี่เป็น… การคืนเงินมัดจำ หรือเงินค่าประกัน ให้กับผู้บริโภค ในกรณีที่ซื้อสินค้าไปแล้วและได้นำภาชนะบรรจุภัณฑ์มาคืน, การใช้อัตราภาษีที่แตกต่างกัน (Tax Differentiation) นี่เป็น… การเก็บเงินจากผู้บริโภคในระดับที่จูงใจให้เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ด้วยการกำหนดราคาให้ต่ำกว่าราคาผลิตภัณฑ์ หรือสินค้าที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

การวางประกันความเสี่ยงหรือความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม (PerformanceBonds) คือ… การเก็บค่าประกันความเสี่ยงจากผู้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม โดยการวางเงินประกันต้องมากพอสำหรับใช้เยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น, มาตรการอุดหนุน (Subsidy) คือ… มาตรการสนับสนุนการลดมลพิษ หรือช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกิจการที่ลดมลพิษแล้วมีการลงทุนสูงแต่ให้ผลตอบแทนต่ำไม่คุ้มทุน ซึ่งรัฐต้องการส่งเสริมกิจการดังกล่าว เพราะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม …เหล่านี้เป็นข้อมูลโดยสังเขปกรณี เครื่องมือแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ผ่าน มาตรการทางเศรษฐศาสตร์

โฟกัสที่การ เก็บค่าปล่อยมลพิษ สำหรับ ในไทย

ถึงวันนี้ยัง มีปุจฉา กับ กิจการที่ก่อมลพิษมาก

มีการจ่ายอย่างที่ควรจะต้องจ่าย…หรือยัง??”.