ฉายภาพ “เกษตรกรไทยยุคใหม่” ที่ต้อง “ปรับตัว”

“รวมกลุ่มกันให้เข้มแข็ง” เป็น “เกษตรแปลงใหญ่”

ทั้งนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีโอกาสร่วมคณะผู้บริหาร ธ.ก.ส. ไปเยี่ยมชมการทำเกษตรสมัยใหม่ที่ อ.แกลง จ.ระยอง ไปดูการดำเนินงานของ “วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1” โดยความสำเร็จในอาชีพเกษตรของกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่นี้ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อย …ซึ่งกับเรื่อง “เกษตรแปลงใหญ่” นั้น ปัจจุบันก็ได้รับความสนใจจากบรรดาเกษตรกรไทย มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ ในหลาย ๆ พื้นที่ รวมถึงพื้นที่ อ.แกลง จ.ระยอง ที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไปสัมผัสมา

การทำ “เกษตรแปลงใหญ่” ที่ว่านี้ เป็นวิธีการที่สำคัญสำหรับ “อาชีพเกษตรยุคใหม่” ซึ่งจำเป็นต้อง “รวมกลุ่มกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของเกษตรกร” และนอกจากนั้น ยังช่วยในเรื่องของการ “ลดต้นทุนการผลิต” ที่ช่วยทำให้เกษตรกร “มีรายได้เพิ่มขึ้น” โดย “วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1” ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มเกษตรกรที่รวมตัวทำเกษตรรูปแบบนี้ จนประสบความสำเร็จได้ ที่ไม่เพียงช่วยให้ “ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ” แต่ยังทำให้ “คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น” อีกด้วย…

และกับรายละเอียดของ “การทำเกษตรสวนทุเรียนแปลงใหญ่” ที่ทาง “วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1” ดำเนินการจนสามารถประสบความสำเร็จได้นั้น เรื่องนี้ทาง มาริน สมคิด เกษตรจังหวัดระยอง ได้มีการให้ข้อมูลกับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ทุเรียน วังหว้า 1 มีสมาชิกที่ทำเกษตรแปลงใหญ่อยู่ทั้งหมด 36 ราย โดยมีการทำสวนปลูกทุเรียนรวมเนื้อที่ 600 กว่าไร่ ซึ่งแต่เดิมนั้นทางกลุ่มฯ ก็ประสบความสำเร็จจากการ “ปลูกมังคุดแปลงใหญ่” มาก่อน…

ต่อมาก็มีการขยายผลสู่การ “ปลูกทุเรียนแปลงใหญ่”

ทางเกษตรจังหวัดระยองได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า… สมาชิกในกลุ่มฯ นี้ได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาปรับใช้ อีกทั้งยังได้มีการ “บูรณาการ” ด้วยการนำเอาความรู้หลาย ๆ ด้านเข้ามาใช้ร่วมกัน เพื่อที่จะสร้างระบบการทำเกษตรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงมีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ การตั้งศูนย์เรียนรู้ฯ อีกทั้งยังพยายามส่งเสริมให้สมาชิกภายในกลุ่มฯ หันมาสนใจเกี่ยวกับการทำ “การเกษตรแบบประณีต” โดยเริ่มต้นจากการใช้เงินทุนของสมาชิกจำนวน 3 แสนบาท ซึ่งปัจจุบันกลุ่มฯ มีเงินทุนเพิ่มพูนขึ้นมากกว่าเดิม โดยมียอดเงินสะสมของกลุ่มฯ อยู่ที่มากกว่า 1 ล้านบาท …นี่เป็น “ความสำเร็จ” ที่เกิดขึ้น…

เมื่อเกษตรกรกลุ่มนี้ร่วมกันทำ “เกษตรแปลงใหญ่”

เริ่มด้วยทุน 3 แสน…ปัจจุบันเพิ่มทะลุ 1 ล้านแล้ว!!

นอกจากนั้น มาริน ยังได้ขยายความเกี่ยวกับกระบวนการที่เกิดขึ้นของเกษตรกรที่มารวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ว่า… เริ่มตั้งแต่สมาชิกกลุ่มฯ ทุกคนจะ ร่วมกันคิดวิเคราะห์ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา ตลอดจนแบ่งปันข้อมูลความรู้ระหว่างเพื่อนสมาชิก ทั้งนี้เพื่อ ช่วยกันพัฒนาปรับปรุงผลผลิตของกลุ่มฯ ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

“จากการที่ทุกคนได้ช่วยกันคิด ช่วยกันวางแผน ส่งผลทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตที่ไม่จำเป็นออกไปได้มาก นอกจากนั้น การที่ทุกคนมาร่วมกันแลกเปลี่ยนปัญหาและวิธีแก้ไข ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพที่ดีมากขึ้นด้วย”

ทั้งนี้ กับ “คีย์เวิร์ดความสำเร็จ” ในการทำ “เกษตรแปลงใหญ่” ประเด็นนี้ทางผู้สันทัดกรณีคนเดิมชี้ว่า… ประกอบด้วย 5 ด้านหลัก ๆ คือ… 1.ลดต้นทุนการผลิต, 2.เพิ่มผลผลิต, 3.พัฒนาคุณภาพ, 4.การตลาด และ 5.การบริหารจัดการ

นี่คือ “คีย์เวิร์ดความสำเร็จของเกษตรกร” กลุ่มนี้

ที่ก็ “น่าสนใจ” สำหรับเกษตรกรกลุ่มอื่น ๆ ด้วย…

และเกี่ยวกับ “เกษตรแปลงใหญ่” นั้น ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. พงษ์พันธ์ จงรักษ์ ก็ได้สะท้อนผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาว่า… ทาง ธ.ก.ส. ก็มี โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อพัฒนาการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ให้แก่เกษตรกรที่สนใจแนวทางนี้ ที่ถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ส่งเสริม “สินเชื่อให้เงินทุนดอกเบี้ยต่ำ” ดอกเบี้ย 0.01% หรือ “ดอกเบี้ยล้านละร้อยบาท” ซึ่งถ้ากลุ่มใดขอสินเชื่อเต็ม 10 ล้าน…

สินเชื่อ 10 ล้านบาท…ดอกเบี้ยก็แค่ปีละ 1,000 บาท

“ทาง ธ.ก.ส. พร้อมที่จะส่งเสริมเกษตรกรในการทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่ง ถ้าเกษตรกรสามารถจะมีต้นทุนที่ถูกลง ก็ย่อมจะมีโอกาสมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยนอกจากมังคุดกับทุเรียนแล้ว เกษตรแปลงใหญ่ทุกชนิดก็สามารถยื่นขอสินเชื่อได้เช่นกัน โดยมีเงื่อนไขแค่ต้องมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 30 ราย และมีพื้นที่ผลิตไม่ต่ำกว่า 300 ไร่ ซึ่งถ้ากลุ่มเกษตรกรมีการวางแผนที่ดี มีการทำบัญชี ทำแผนการผลิต แผนการขาย และแผนการตลาด ที่ชัดเจน ก็จะได้รับการพิจารณาแน่นอน”…ผู้ช่วย ผจก.ธ.ก.ส. ระบุ

ตัวอย่างความสำเร็จ “เกษตรแปลงใหญ่” มีปรากฏ

ขณะที่ “แหล่งทุนเกษตรแปลงใหญ่นั้นก็มีพร้อม”

หวังว่า “เกษตรกรไทยมีโอกาสหายจนทั่วหน้า” .