โดยที่ในยุคนี้ก็มักจะมีการใช้ศัพท์เรียกขานพฤติกรรมทำนองนี้ว่า… “หิวแสง” ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ทั้งในสังคมโซเชียล และนอกสังคมโซเชียล ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับ 2 กรณี 2 กระแส ที่ยึดโยง “คนดัง-คนมีชื่อเสียง” ที่แสดงพฤติกรรมชวนให้สังคมฉงนฉงาย?? รวมไปถึงชวนให้ตีความว่า “ป่วยเป็นโรคหิวแสง??”  หรือเปล่า??…

กรณี “หิวแสง” กลายเป็น “อีกปรากฏการณ์” ยุคนี้…

โดยที่บางคน “มีกระแสลบแรง ๆ กลับดูจะรู้สึกดี??”

และเกี่ยวกับกรณี “หิวแสง” ที่ก็มีสะท้อนผ่านความเคลื่อนไหวของ “คนดัง ๆ” ด้วย ที่มักจะ แสดงพฤติกรรมที่ชวนให้สังคมตำหนิ-ต่อว่า-ด่าทอ หรือทำอะไรที่ ทำให้สังคมเกิดกระแสเชิงลบ “เพื่อที่จะได้อยู่บนพื้นที่สื่อ” โดยที่บางเรื่องบางกรณีเป็นเรื่องที่ “ดูไม่เข้าท่า-ดูไม่น่าทำ” นั้น กับกรณีนี้ในลักษณะนี้ก็น่าสนใจ น่าพินิจมุมวิเคราะห์ไม่ใช่น้อยเช่นกัน ว่า… สรุปแล้ว “พฤติกรรมหิวแสง” จนทำให้บางคนเลือกที่จะ “แสดงออกผ่านพฤติกรรมที่ดูประหลาด ๆ” โดยมุ่งหวัง “เพื่อที่จะให้ถูกพูดถึง-เพื่อที่จะได้อยู่ในกระแส” นั้นกรณีนี้ในทางจิตวิทยา ในทางการแพทย์ “เข้าข่ายอาการทางจิตเวช??หรือเปล่า??

ทั้งนี้เรื่องนี้กรณีนี้วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีแง่มุมมาสะท้อน… โดยกรณีที่บางคนมักจะ “ชอบแสดงพฤติกรรมอะไรที่ค้านความรู้สึกสังคม” เพื่อให้ถูกตำหนิ-ถูกด่าหรือทำให้เกิดกระแสเชิงลบนั้น ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ได้ให้ข้อมูลผ่าน “มุมจิตวิทยา” กับการ “กลัวตกกระแส” จนเป็นกรณี “หิวแสง” ไว้ดังนี้…

ในทางจิตวิทยานั้น สำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ หรือที่ศัพท์ปัจจุบันมักเรียกผู้ที่มีพฤติกรรมแบบนี้ว่า… “คนหิวแสง-อาการหิวแสง” นั้น ความจริงแล้วพฤติกรรมหรืออาการลักษณะนี้ไม่ใช่โรค…แต่ “เป็นลักษณะพื้นฐานทางอารมณ์” ของบุคคลนั้น ๆ มากกว่า ที่ชอบแสดงออกแบบนี้ เนื่องจากคนกลุ่มนี้นั้น “ชอบตกเป็นเป้าสายตา” หรือ “ชอบมีตัวตนอยู่ในกระแส”

โดย…”ไม่แคร์ว่าจะเป็นกระแสเชิงบวกหรือลบ!!”

ทาง รศ.นพ.สุริยเดว ยังได้ระบุถึงผู้ที่มีพฤติกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้อีกว่า… พฤติกรรมนี้เริ่มพบได้บ่อยครั้งมากขึ้นในสังคมยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะใน “ยุคโซเชียล” ซึ่งหากไม่ได้แสดงออกมามากมายจนเกินขอบเขต ก็อาจจะเป็นแค่ “ต้องการโชว์ออฟ” หรือ “ต้องการพื้นที่แสดงออกเพื่อทำให้คนสนใจ” แต่กับบางคนนั้นก็ “โชว์ออฟมากจนเกินไป” หรือ “แสดงออกอย่างเกินขอบเขตและความพอดีมากเกินไป” โดยที่ไม่ได้สนใจหรือไม่ตะขิดตะขวงใจเลยว่า… พฤติกรรมนั้นจะทำให้ตัวเองถูกด่าหรือถูกสังคมตำหนิอย่างรุนแรง เนื่องจากคนเหล่านี้มักจะ “มีชุดความคิดแปลก ๆ”  ซึ่งมักจะมีแนวโน้มของ “ความเชื่อ” ที่ว่า… ยิ่งมีคนตำหนิ-ด่าทอ หรือยิ่งถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์มากเท่าไหร่…ก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น??”…

นี่ก็เพราะ “ทำให้ตนเองได้ตกเป็นเป้าสายตา”

ทำให้ “ชื่อ-เรื่องราวของตนถูกสังคมกล่าวถึง”

นอกจากนั้น รศ.นพ.สุริยเดว ยังได้ระบุขยายความพฤติกรรม-อาการ “หิวแสง” ต่อไปว่า… การที่บางคนชอบแสดงออกแบบนี้ ยังอาจเป็นเพราะคน ๆ นั้น ต้องการบรรลุผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง?? จนยอมทำสิ่งที่ทำให้ตนเองถูกมองในแง่ลบ ซึ่งจุดสังเกตของอาการหิวแสงของบางคนนั้น สามารถสังเกตพบได้ง่าย ๆ ผ่าน “พฤติกรรม” หรือ “การแสดงออก” ด้านต่าง ๆ ดังนี้…

เริ่มจาก… มักจะเป็นคนที่ “ชอบทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่” หรือ มักจะทำเรื่องไม่เป็นเรื่องให้กลายเป็นประเด็นที่ถูกผู้คน
นำไปกล่าวถึง
ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดกระแสร้าย ๆ กับตนเองก็ตาม ถัดมาคือ… “ชอบนำลูกเล่นแปลก ๆ มาใช้” เพื่อดึงให้สังคมหันมาสนใจ หรือหันมาโฟกัสที่ตัวของคน ๆ นั้น แทนที่จะเป็นประเด็นอื่นที่สังคมกำลังให้ความสนใจ จนทำให้สามารถแสดงออกหรือกระทำพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้ผู้คนกังขา …นี่เป็น “ลักษณะที่มักพบได้บ่อย ๆ”…

ในผู้ที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายจะเกิด “ภาวะหิวแสง”

อนึ่ง รศ.นพ.สุริยเดว ยังได้สะท้อนเกี่ยวกับ “พฤติกรรมเชิงลบ” ที่เกิดขึ้นแบบนี้ ผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มาด้วยว่า… เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าแปลกใจ ที่ยุคนี้สังคมไทยมีโอกาสพบเจอคนที่มีพฤติกรรมลักษณะดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และหลาย ๆ ครั้ง อย่างที่ไม่คาดคิด หรือ ไม่น่าเชื่อว่าคนเราจะทำได้ถึงขั้นนี้เพื่อให้ตนเองเป็นจุดสนใจ!! …นี่เป็น “ปรากฏการณ์หิวแสง” ที่เกิดขึ้นถี่ในไทยในระยะหลัง ๆ มานี้ ที่ รศ.นพ.สุริยเดว เองก็ยังอดที่จะรู้สึก “แปลกใจ?” อดที่จะรู้สึก “งง?” ไม่ได้เช่นกัน ว่า… “เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยยุคนี้??” จนทำให้หลายคน “ยอมถูกด่าเพื่อที่จะได้กลายเป็นจุดสนใจของสังคม!!” แบบนี้

“ถ้าจำกันได้ เคยมีคนแก้ผ้าวิ่งไปตามถนน โดยยอมถูกด่ายอมเสียค่าปรับ เพื่อให้เกิดทอล์กออฟเดอะทาวน์ เพื่อให้คนสนใจภาพยนตร์… ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ายุคนี้ก็ยังมีคนที่คิดแบบนี้อยู่ แถมมีมากกว่าในอดีตอีกด้วย” …เป็นการระบุอีกส่วนโดย รศ.นพ.สุริยเดว เกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์หิวแสง” ที่ในสังคมไทยยุคนี้มี “กรณีชวนอึ้ง” ทำนองนี้ “เกิดขึ้นอื้อ!!”

“หิวแสง” แม้ไม่ใช่โรค…แต่ก็ “ระบาดในไทยไม่น้อย”

กับผู้คนทั่ว ๆ ไปนั้น…ถ้า “โดนทัวร์ลง” ก็จะเครียด…

แต่ “หิวแสง” นี่ “โนแคร์”…ยิ่ง “ทัวร์ลงแรงยิ่งชอบ!!” .