วันนี้เราจะพูดถึงส่วนที่มีการเสนอให้มีการ “อพยพ” ปลาโลมาฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา ไปอาศัยยังท้องทะเลที่อื่น ๆ นั้น ทางวิชาการเป็นไปไม่ได้เลยเพราะมีปัญหามากมาย ตั้งแต่เรื่องของระบบนิเวศ ที่เป็นแหล่งที่อยู่ อาหารในชีวิตประจำวัน และการอพยพที่อาจจะทำให้เสียชีวิต ซึ่งไม่ใช่แนวทางของการรักษาชีวิตของโลมาฝูงนี้อย่างที่ต้องการ

เมื่อถามว่า การสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อการเชื่อม อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา ไปยัง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เป็นการย่นระยะทางในการเดินทางระหว่าง “คาบสมุทรสทิงพระ” ไปยัง จ.พัทลุง ด้วยการข้ามทะเลสาบตอนบน ซึ่งเป็นที่อยู่และอาหารของ “โลมา” ฝูงสุดท้ายฝูงนี้ จะมีผลกระทบหรือไม่อย่างไร ซึ่ง “นักวิชาการ” ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง กล่าวว่า ทางหลักวิชาการย่อมมีผลกระทบ โดยเฉพาะในระยะที่มีการก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลาไม่ใช่เดือนสองเดือนแต่อาจจะเป็นปี ๆ ซึ่งก็คงต้องมีการแก้ปัญหาด้วยการป้องกันตามขั้นตอนของปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดคือเรื่องของ “โลมาฝูงสุดท้าย” ในทะเลสาบสงขลา ในวันที่ “ทะเลสาบสงขลา” ป่วยไข้ จากทะเลสาบที่สวยงาม กลายเป็น “แอ่งน้ำ” ขนาดใหญ่ ที่ไม่ได้รับการ “เยียวยา” จนมีสภาพที่ตื้นเขินคนสามารถที่จะเดินในทะเลสาบแห่งนี้ได้ และ “น้ำเสีย” จากโรงงานอุตสาหกรรม จาก “ต้นน้ำ” อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ อ.บางกล่ำ อ.ควนเนียง อ.รัตภูมิ และ อ.เมือง ที่ถูกปล่อยลง “คลองอู่ตะเภา” และ “คลองสาขา” อื่น ๆ ที่สุดท้ายมา “รวมศูนย์” ที่ทะเลสาบสงขลา และรวมทั้งสารเคมีจากเกษตรกร ที่ใช้ในการทำสวน ซึ่งมีการตกค้างก็ไหลลงสู่ “ทะเลสาบสงขลา” เช่นกัน และยังไม่นับความหมักหมมจากการที่ชาวประมงรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา ยึดอาชีพเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังที่ทำให้เศษซากของเสียสิ่งปฏิกูล ได้กลายเป็นการสร้างความ “ป่วยไข้” ทางนิเวศวิทยาให้เกิดขึ้น กุ้ง, หอย, ปู, ปลา ที่น้อยลงตามความ “เสื่อมเสีย” ที่เกิดขึ้นกับ “ทะเลสาบสงลา” จนทำให้มีผลกระทบกับชาวประมงรอบ ๆ ทะเลสาบใน จ.สงขลา จ.พัทลุง และบางส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช “รุกไล่” ให้การทำประมงขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการกินอาณาเขตที่เป็นที่อยู่อาศัยของ “โลมาฝูงสุดท้าย” ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ต้องยอมรับ และต้องแก้ปัญหา เพราะต้นเหตุทั้งหมด มาจากความ “ป่วยไข้” ของ “ทะเลสาบสงขลา” ที่วันนี้นอกจากส่งผลกระทบกับชาวประมงแล้ว ยังส่งผลกระทบกับ “โลมาฝูงสุดท้าย” ซึ่งถือเป็น “ทรัพยากรล้ำค่า” ที่อยู่ใน “ทะเลสาบสงขลา” มาตั้งแต่ดั้งเดิม

ดังนั้น ปัญหานี้ จึงไม่ใช่ปัญหาของ “ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ” แต่เป็นเรื่องของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นเรื่องของ “นักการเมือง” ในพื้นที่ จ.สงขลา ที่ต้องดำเนินการให้ “รัฐบาล” แก้ปัญหาของ “ทะเลสาบสงขลา” เพื่อที่จะได้ “อนุรักษ์” และ “รักษาชีวิต” ของ “โลมาฝูงสุดท้าย” เอาไว้ และสร้างคุณภาพชีวิตของชาวประมงรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่ง “โอบอุ้ม” โลมาฝูงสุดท้ายไว้ให้ได้.

วรพล เพชรสุทธิ์/ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล