การประมูลก่อสร้างโครงการของรัฐที่มีมูลค่าเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ ล้านบาท ควรมีเงื่อนไข ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เรียกกันว่า “ทีโออาร์” ให้กว้าง ๆ ไม่ใช่ทีโออาร์แบบคับแคบ! เพื่อให้ได้ผู้รับเหมามากหน้าหลายตา เข้ามาแข่งขันยื่นประมูล

ผลประโยชน์ย่อมตกอยู่กับรัฐ มากกว่าการมีผู้รับเหมาน้อยรายไม่ใช่หรือ? พล..ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โดยเฉพาะการประมูลก่อสร้างและสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กม. วงเงินกว่า 1.427 แสนล้านบาท เป็นโครงการที่ขยัน “เรียกแขก” จริง ๆ

ย้อนไปเดือน พ.ค. 64 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับคำฟ้องกรณี “บีทีเอส” ยื่นฟ้องผู้ว่าการ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กรณียกเลิกประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(16) กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 165

มาเที่ยวนี้ผู้เกี่ยวข้องกวักมือเรียก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมการขนส่ง และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดโปงความไม่ชอบมาพากลการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุนก่อสร้างและรับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังจาก รฟม.เปิดขายซองข้อเสนอไปแล้ว โดยมีกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 27 .. 65

โดยผู้รับเหมาต้องมีประสบการณ์ 1.งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ใต้ดินด้วยระบบหัวเจาะมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท 2. งานออกแบบและก่อสร้างสถานีใต้ดินหรือสถานียกระดับมูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท 3.งานออกแบบและก่อสร้างทางวิ่งพร้อมรางแบบไม่ใช้หินโรย มูลค่าไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ในช่วงระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

โดยต้องเป็นผลงานที่เปิดให้บริการแล้วเท่านั้น ปรากฏว่ามีผู้รับเหมายักษ์ใหญ่ในไทยมีคุณสมบัติครบถ้วนเพียง 2 ราย ขณะที่กลุ่มอื่น เช่น กลุ่มบีเอสอาร์ ที่มีบีทีเอส-ซิโน-ไทย หรือบีทีเอส+STECON ก็ยังขาดคุณสมบัติ แม้จะไปดึงผู้รับเหมาจากจีน-ญี่ปุ่น แต่ติดเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลากระชั้นชิดไม่ถึง 2 เดือน จึงเตรียมการและติดต่อไม่ทันอยู่ดี

งานนี้ “คณะผู้สังเกตการณ์” ตามข้อตกลงคุณธรรม รู้ตื้นลึกหนาบาง “ทีโออาร์” บ้างหรือไม่? ว่ากลายเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ ด้วยกฎเกณฑ์พิลึก! แต่คาดหวังประเคนโครงการให้กลุ่มทุน ที่มีอดีตนักการเมืองคนดังหนุนหลังอยู่

คนในแวดวงผู้รับเหมามองว่าระยะเวลาที่สูญเสียไป กับการปรับปรุงแก้ไขทีโออาร์ใหม่เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ แต่ รฟม.จะอธิบายกับสังคมอย่างไรว่า เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกรอบนี้โปร่งใส ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เนื่องจาก ดร.สามารถ ชี้ชัดว่ามีผู้รับเหมายักษ์ใหญ่ในไทยมีคุณสมบัติครบเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น ที่มีสิทธิประมูล

โดยปกติการปรับปรุงทีโออาร์ รฟม. และที่ปรึกษาที่ดำเนินการยกร่างทีโออาร์ต้องดำเนินการทดสอบว่าหากกำหนดเงื่อนไขออกไปแบบนี้ จะมีบริษัทรับเหมาก่อสร้างกี่ราย ทั้งไทยและต่างประเทศเข้าร่วมประมูลได้ หากเห็นว่าทีโออาร์ที่ออกไปนั้นเข้มงวดเกินไป ยากแก่การแข่งขัน จะต้องดำเนินการปรับปรุงเพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น

งานนี้จึงต้องจับตาว่า “กลุ่มบีทีเอส” จะร้องเรียน ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตฯ อีกครั้งหรือไม่? เพราะอาจเข้าข่ายการกำหนดเงื่อนไขที่มีเจตนากีดกันผู้ประมูลรายอื่น ทั้งที่งานก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้โบราณสถานสำคัญ ๆ อุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เดี๋ยวนี้มีผู้รับเหมามากกว่า 2 รายที่ทำได้ ถ้าทีโออาร์เปิดกว้างกว่านี้

การประมูลก่อสร้างรถไฟรางคู่ 2 สาย (เด่นชัย-เชียงของ / บ้านไผ่-นครพนม) 678 กม. มูลค่า 1.28 แสนล้านบาท เหมือนล็อกไว้แค่ 5 สัญญา ก็มีผู้รับเหมา 5 ราย ประมูลได้งานไปทุกราย ด้วยราคาเฉียดฉิวกับราคากลาง

แต่นี่รถไฟฟ้าสายสีส้มกว่า 1.427 แสนล้านบาท ยังพยายามจะใช้ทีโออาร์บีบให้เหลือผู้รับเหมาประมูลแข่งขันกันแค่ 2 ราย ใจคอจะเอาแบบนี้ใช่หรือเปล่า “ประยุทธ์-ศักดิ์สยาม”??

———————-
พยัคฆ์น้อย