อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จ.นครราชสีมา ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนในโครงการพัฒนาสูตรอาหารต้นทุนต่ำและการแปรรูปไก่งวงสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่งวงในเขตตำบลแชะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ที่มี ผศ.ดร.สุทิศา เข็มผะกา สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางสัตว์ สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. เป็นผู้ดูแลโครงการ

รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะโฆษก อว. เปิดเผยเรื่องดังกล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่งวงครบุรี จ.นครราชสีมา เป็นกลุ่มที่มีการเลี้ยงไก่งวงเพื่อจำหน่าย มีสมาชิก 22 ครัวเรือน และมีแนวโน้มที่จะมีการเลี้ยงไก่งวงมากขึ้นเพื่อเป็นอาชีพเสริมนอกเหนือจากการทำนาหรือปลูกมันสำปะหลัง โดยกลุ่มหลักจะอยู่ที่ หมู่ 8 ตำบลแชะ อำเภอครบุรี มีกิจกรรมการเลี้ยงไก่งวง 2 รูปแบบ คือ เลี้ยงไก่งวงพ่อแม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกจำหน่าย และเลี้ยงไก่งวงขุน โดยพันธุ์ที่เลี้ยง ได้แก่ พันธุ์อเมริกันบรอนซ์ พันธุ์เบลท์สวิสท์ สมอลไวท์ และพันธุ์ลูกผสม เนื่องจากไก่งวง 3 สายพันธุ์นี้เลี้ยงง่าย โตเร็ว แข็งแรง ทนทานต่อโรคและน้ำหนักดี


เลขานุการ รมว.อว.และโฆษก อว.กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกรกลุ่มนี้ยังมีปัญหาในหลาย ๆ ด้าน ที่ทำให้เกษตรกรขาดศักยภาพในการผลิตไก่งวงให้ได้คุณภาพตามมาตรฐานของตลาด ถึงแม้ว่าความต้องการเนื้อไก่งวงขุนของตลาดยังคงสูงอย่างต่อเนื่องก็ตาม ซึ่งปัญหาที่เกษตรกรต้องการแก้ไขในเบื้องต้น คือ 1.ต้องการอาหารไก่งวงคุณภาพดีแต่ต้นทุนต่ำ 2.ต้องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไก่งวงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและลดความเสี่ยงในบางช่วงที่ไม่สามารถจำหน่ายไก่งวงขุนได้ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ดำเนินการพัฒนาสูตรอาหารให้กับเกษตรกรใน 2 รูปแบบ คือ อาหารผสมสำเร็จรูปสำหรับไก่งวงระยะขุน อายุ 12-16 สัปดาห์ ที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 21% และหัวอาหารเข้มข้นที่มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 40% สำหรับไก่งวงขุนอายุ 16-24 สัปดาห์ โดยหัวอาหารเข้มข้นสามารถนำไปผสมต่อกับวัตถุดิบแหล่งพลังงานที่เกษตรกรสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ข้าวโพด รำละเอียด มันเส้น เป็นต้น

“ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้ดำเนินการผลิตหัวอาหารเข้มข้นจำหน่ายให้กับกลุ่มสมาชิก ทำให้ต้นทุนค่าอาหารลดลง 15-20% ค่าอาหารเหลือ 13-14 บาท/กก. จากเดิม 16-18 บาท/กก. เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 40-45% หรือ รายได้เพิ่มขึ้น 50-100 บาท /กิโลกรัม ในส่วนของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ไก่งวงจ๊อได้มีการพัฒนาสูตรขึ้น ผ่านการประเมินคุณภาพในห้องปฏิบัติการและทดสอบ sensory test จากผู้บริโภค ซึ่งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไก่งวงทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 60% โดยไก่งวง ราคา 520 บาท สามารถขายได้ 800 บาท นอกจากนี้ ยังมีน้ำพริกไก่งวง ไก่งวงรมควันและอื่น ที่สำคัญมีการนำผลิตภัณฑ์แปรรูปมาทดสอบหาอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ในห้องปฎิบัติการ โดยมีความคาดหวังว่ากลุ่มเกษตรกรจะสามารถสร้างช่องทางจำหน่ายได้ทั้งในตลาดท้องถิ่นและตลาดออนไลน์” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว


การดำเนินการแผนงานการส่งเสริมการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชนของอุทยานวิทยาศาสตร์ มทส. สามารถสร้างผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ได้ เกษตรกรสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนะตรงตามความต้องการของไก่งวง ส่งผลทำให้ไก่งวงมีประสิทธิภาพการผลิตดีขึ้นและได้น้ำหนักส่งตลาดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยังเป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มและแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในบางช่วงฤดูกาลที่ไก่งวงขุนมีราคาต่ำส่วนผลกระทบทางด้านสังคม เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับชุมชน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เป็นการเพิ่มโอกาสในการใช้วัตถุดิบที่เป็นผลพลอยได้หรือเศษเหลือที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้นและมูลค่าจากไก่งวงก็ก่อให้เกิดมลพิษทางกลิ่นน้อยเมื่อเทียบกับสัตว์เศรษฐกิจชนิดอื่นๆ เช่น สุกร ไก่ เป็นต้น.