เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กระบุว่า เกี่ยวกับกรณีร้องเรียนป้ายหาเสียงของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า “ตามหลักการทางรัฐธรรมนูญ เวลาพูดถึง “การเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม” (Free and Fair Election) ในระบอบประชาธิปไตย นอกจากจะหมายถึงว่า การเลือกตั้งนั้นต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมไม่มีการทุจริตซื้อสิทธิขายเสียงแล้ว ยังหมายความรวมถึง “ความรวดเร็วในการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง” เพื่อให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งสามารถเข้าทำหน้าที่ “ผู้แทนของประชาชน” ได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดอยู่ ซึ่งหลักการนี้มีการบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญหรือแม้แต่กฎหมายการเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ เองด้วย
“ความรวดเร็ว” ที่ผมพูดถึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อมีการเลือกตั้งแล้วทางคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องประกาศรับรองผลเลยในวันนี้พรุ่งนี้จนไม่สามารถที่ทำการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งได้เลย หากแต่ต้องดูว่า “ถ้าเป็นการร้องเรียนที่ไม่ใช่ประเด็นที่มีผลอย่างมีนัยสำคัญว่าเป็นการซื้อเสียงบิดเบือนเจตจำนงของผู้เลือก” ย่อมไม่มีเหตุผลอันควรตามกฎหมายที่จะประกาศผลล่าช้า (Excessive delay)
อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องป้ายหาเสียงของ อ.ชัชชาติ เพื่อโยงไปยังความผิดเกี่ยวกับการซื้อเสียงตาม ม.65 ของกฎหมายเลือกตั้งการปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ตามหลักการแล้วผมเห็นว่าเป็นการตีความที่ “ไกลเกินกว่าเหตุอย่างชัดเจน” (Prima Facie Unreasonableness) ที่จะไปเชื่อมโยงได้ว่ามีลักษณะเป็นการทุจริตซื้อเสียงเพื่อให้ชนะการเลือกตั้ง ลองพิจารณาง่ายๆ เลยว่า เป็นไปได้หรือที่ประชาชนจงใจที่จะเลือก หรือเทคะแนนให้ อ.ชัชชาติ เพียงเพื่อที่ต้องการได้ป้ายหาเสียงไปทำกระเป๋ารีไซเคิล อันเป็นการบิดเบือนเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนตั้งแต่แรก? ฯลฯ
ดังนั้น เมื่อกรณีการร้องเรียนเพื่อกล่าวหาว่า อ.ชัชชาติ ทำการซื้อเสียงมิได้มีข้อเท็จจริงที่สลับซับซ้อนต่อการพิจารณาว่ามีการทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ แต่กลับเห็นได้ชัดเจนง่ายดายว่าหาได้เป็นอย่างที่กล่าวหา ก็ไม่มีน้ำหนักมากพอหรือเหตุผลใดที่จะเลื่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งออกไป
อีกทั้ง หากทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นแย้งกับที่ผมกล่าวมา ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะไม่สามารถตรวจสอบทุจริตการเลือกตั้งได้ กล่าวคือ หากมีหลักฐานอย่างชัดเจนสามารถบ่งชี้ได้ตามข้อกล่าวหาของผู้ร้องว่า อ.ชัชชาติ กระทำความผิดซื้อสิทธิขายเสียงทำให้ท่านชนะเลือกตั้งโดยทุจริตจริง ก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้พิจารณาได้ และหากศาลท่านเห็นว่าเกิดการทุจริตก็จะทำการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ต่อไป
ทางคณะกรรมการการเลือกตั้งพึงต้องเข้าใจว่า “ความรวดเร็ว” ในการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งถือ “เป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม” การที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ส่วนหนึ่งก็โดยมีความมุ่งหมายเพื่อเร่งรัดให้รีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ ไม่ต้องการให้เกิดสุญญากาศว่างเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐเพื่อประชาชน กรอบระยะเวลาตรงนี้จึงไม่ได้หมายถึงว่าต้องทำให้ครบกำหนดเต็มเวลาหากไม่ได้มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มุมหนึ่งทางกฎหมายหมายถึง การคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยในแง่ที่ว่า “ผู้แทนที่เขาเลือกนั้นจะได้เริ่มต้นเข้าไปทำหน้าที่ตามที่ได้อาสาเข้ามาทำงานแทนประชาชน”
ด้วยเหตุผลของหลักการทางรัฐธรรมนูญ การประกาศรับรองผลล่าช้าเกินความจำเป็นอย่างไม่สมเหตุสมผลจึงย่อมเป็นการกระทบสิทธิของประชาชนด้วยนั่นเองครับ ความยุติธรรมที่ล่าช้า ย่อมเป็นความอยุติธรรมในตัวเอง #สุจริตรวดเร็วและเป็นธรรมต้องมาพร้อมกัน”..