ซึ่งหลังเปิดเทอมปีนี้ก็มี “ดราม่าเซ็งแซ่” หลายกรณี มีทั้งลงโทษโดย “กล้อนผมแหว่ง” ไปจนถึงลงโทษด้วยการ “เตะ” ซึ่งผู้คนก็วิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึง ทั้งนี้ ว่าด้วยเรื่อง “การลงโทษเด็ก” นั้น แม้มิใช่แบบ “เกินเหตุ” เรื่องนี้ในสังคมไทยก็ยังเป็นประเด็นถกเถียงอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นว่า ไม่ควรทำ-ไม่ควรมีแล้ว และฝ่ายที่เห็นว่า ยังควรมี…แต่ควรยึดหลักวิธีเพื่อไม่ให้เกินเลยรุนแรงจนเกินไป ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะได้พินิจพิจารณากันอีก…

“การลงโทษเด็กยังคงมี” ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน

และยังมีปุจฉา “แบบใด?-อย่างไร?…ที่ไม่เกินไป”

วันนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ชวนดูเรื่องนี้กันอีกครั้ง…

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มดูกันอีกครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เคยมีการสะท้อนคำแนะนำประชาชนผ่านทาง “เดลินิวส์” ไว้โดย พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสุขภาพจิต หลังจากที่ผู้คนในสังคมไทยให้ความสนใจเรื่องนี้-วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้กันอื้ออึง…เมื่อเกิดกรณี “ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง” และผู้คนในสังคมไทยรับไม่ได้กับความรุนแรงกรณีดังกล่าว …ซึ่งกับเรื่อง “การลงโทษเด็ก” นั้น ทาง พญ.อัมพร ได้มีการแนะนำเอาไว้ โดยสรุปมีดังนี้คือ…

ควรเริ่มต้นจากการที่สังคมไทยเริ่ม แก้ไขปัญหาการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรง โดย เปลี่ยนแนวคิด-เปลี่ยนสุภาษิต อย่าง “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” มาเป็น “รักวัวให้ผูก รักลูกให้กอด” อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ก็มีทั้งผู้ที่เห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ขณะที่ก็มีพ่อแม่หลาย ๆ คนที่ใคร่รู้ว่า… ปัจจุบันการตีเด็กยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่?? ซึ่งเรื่องนี้ พญ.อัมพร สะท้อนไว้ว่า… กรณีที่เด็กทำความผิดรุนแรง และจำเป็นต้องควบคุม หรือต้องใช้การกำกับดูแลอย่างหนักแน่นชัดเจน กรณีนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า…

“การลงโทษด้วยวิธีการตี” นั้นเป็น “ทางเลือกหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม “ประเด็นสำคัญ” นั้น “ไม่ได้อยู่ที่ตี?-ไม่ตี?” หากแต่ “อยู่ที่ว่า…ตีอย่างไรจึงจะถูกต้อง??” มากกว่า ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรที่จะต้องเข้าใจเสียก่อนว่า… การตีนั้นทำไปเพื่อให้เด็กรู้ว่านี่คือการลงโทษขั้นสูงสุด ฉะนั้น…ควรที่จะเก็บการตีเอาไว้ใช้สำหรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหาสูงสุดเท่านั้น …เป็นคำแนะนำเบื้องต้นกรณี “การลงโทษเด็กด้วยการตี”…

ที่ “มีหลักคิด-มีหลักการ” กับวิธีลงโทษรูปแบบนี้

ทาง พญ.อัมพร ยังได้เคยมีการแนะนำเอาไว้อีกว่า… การลงโทษเด็กนั้น สามารถเลือกใช้การตีเด็ก…ถ้าหากการตีนั้นทำไปเพราะมองเห็นความผิดรุนแรงที่เกิดขึ้น โดย ต้องไม่ใช่ตีด้วยอารมณ์โกรธ-ฉุนเฉียว ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ แต่เป็นการ ตีจากความรัก ความปรารถนาดี ต้องการที่จะให้เด็กจดจำเรื่องที่ทำผิดในฐานะเป็นเรื่องต้องห้าม-ไม่ควรทำ และนอกจากนั้น รูปแบบการตีที่เหมาะสมนั้นก็มีหลักการ เช่น ต้องไม่ตีด้วยการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ไม้แขวนผ้า เข็มขัด ฯลฯ

พญ.อัมพร ยังได้ให้คำแนะนำ “วิธีตีเด็กเพื่อทำโทษหรือลงโทษ” ไว้ว่า… โดยทั่ว ๆ ไปนั้น แนะนำให้ใช้มือตีมือของเด็ก เพราะทำให้สามารถกะน้ำหนักได้, ต้องตีพร้อมสีหน้าท่าทางจริงจัง แต่จะต้องไม่ใช่การแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด หรืออาละวาด ด่าทอ, ต้องมีท่าทีที่หนักแน่น และ ต้องบอกถึงเหตุผลในการตี ว่าพ่อแม่ก็ไม่ได้มีความสุขที่ต้องตีหรือทำโทษลูก

ที่สำคัญ แม้จะลงโทษเด็กด้วยการใช้มือ ก็ “ต้องไม่ตบหน้า” เพราะไม่ใช่วิธีลงโทษเด็กด้วยความรัก-ความปรารถนาดี แต่กลายเป็นการทำร้ายเด็กด้วยความรุนแรง!! …นี่ก็เป็น “หลักวิธีตีเด็ก” เพื่อไม่ให้เลยเถิดเกินเลยเกินไป

ทั้งนี้ พญ.อัมพร ยังได้แนะนำเสริมไว้ว่า… ควรใช้ช่วงเวลาที่ลงโทษนี้ชี้แนะเด็กให้เข้าใจด้วย ว่า… ต่อไปถ้าหากทำพฤติกรรมที่ผิดอย่างนี้อีกเด็กจะต้องโดนตีอีก ในฐานะที่เป็นกฎศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกับกำกับกฎวินัยนี้ให้ชัดเจน ซึ่งถ้าเป็นความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ แทนที่จะเลือกใช้วิธีการลงโทษด้วยการตี ก็ควรใช้วิธีกำชับด้วยท่าทีที่หนักแน่น เอาจริงเอาจัง ไม่ใช่ตีอย่างเดียว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเด็ก ๆ ได้รับการอธิบายให้เข้าใจ…ก็แทบจะไม่ต้องมีการลงโทษด้วยการตีอีก ขณะเดียวกันก็ ควรใช้วินัยทางบวกควบคู่ด้วย อย่างเช่น… เวลาเด็กทำดี หรือมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ ก็ต้อง ชื่นชม ให้กำลังใจ ด้วย

“ในทางจิตวิทยา ไม่สนับสนุนให้ใช้เครื่องทุ่นแรงในการตี ซึ่งแก่นของการตีไม่ใช่เครื่องมือ แต่คืออารมณ์ ถ้าอารมณ์นิ่งสงบ การตีจะมีความบันยะบันยัง แต่นั่นก็อาจชี้ชวนให้เด็กเข้าใจผิดไปได้ว่า…การลงโทษนั้นเกิดจากการเกลียดชัง ดังนั้น จะต้องทำให้เด็กรับรู้ให้ได้ว่า…การถูกลงโทษเกิดจากการทำผิดที่ต้องแก้ไข และสิ่งที่แฝงเร้นในการตีคือความรัก ไม่ใช่ความโกรธ เกลียด หรือการระบายอารมณ์” …พญ.อัมพร ระบุถึง “หัวใจสำคัญ” ของการลงโทษเด็ก

และถ้าถามว่า จะตีเด็กได้ตั้งแต่อายุกี่ขวบ?? กรณีนี้ทาง พญ.อัมพร ก็เคยชี้แนะไว้ด้วยว่า… ขึ้นอยู่กับการรับรู้เหตุผลของเด็ก โดยเด็กอายุก่อน 3 ขวบ ไม่เคยนึกถึงวิธีการตี เพราะยังไม่รู้ความ และการสื่อสารยังเป็นข้อจำกัดอยู่ ดังนั้น เด็กช่วงวัยนี้การตีเป็นสิ่งที่รุนแรงไป ส่วนเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป เป็นวัยที่เริ่มเข้าใจเหตุผลบ้างแล้ว แต่หากต้องลงโทษด้วยการตี ก็ ต้องสบตาเด็กด้วยความรัก บอกถึงความเสียใจที่ต้องลงโทษ รวมถึงควรตีที่มือเท่านั้น เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ ก็น่าจะเพียงพอ

เหล่านี้เป็น “หลักลงโทษเด็กที่ถูกต้อง-ไม่เกินเลย”

จะ “ที่บ้าน” หรือจะ “ที่โรงเรียน” ก็ควรยึดหลักนี้

มี “ดราม่าซ้ำ ๆ” นั่นมิใช่ลงโทษ…คือ “รุนแรง!!” .